คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7979/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสี่เพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงนำมาประกอบดุลพินิจว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยทั้งสี่สถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลยทั้งสี่ต่อไปเท่านั้น มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่เป็นอย่างไร ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้พนักงานคุมประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น แม้ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตาม ป.อ.ฯ มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่เป็นการรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยทั้งสี่เท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่จำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งห้าโดยรวม ไม่ได้แยกว่าใครเป็นใคร อันเป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวกัน เป็นความผิดกรรมเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 นั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายโดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหลายกรรมต่างกันซึ่งความผิดทั้งห้าฐานเป็นคนละขั้นตอน อีกทั้งจำเลยทั้งสี่ก็ให้การรับสารภาพตามฟ้องถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนากระทำความผิดต่อผู้เสียหายทั้งห้าแยกออกจากกัน การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 4
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 371, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นให้ได้รับอันตรายแก่กาย แต่ให้การปฏิเสธในข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและข้อหาพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก่อนสืบพยาน โจทก์จำเลยทั้งสี่ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน จำคุกคนละ 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นคนละ 5 กระทง จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 1 ปี 26 เดือน จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 19 เดือน
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานมีอาวุธปืน จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม ลงโทษจำคุกคนละ 6 เดือน ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย เป็นการกระทำกรรมเดียว จำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 4 เดือน รวมกับโทษฐานพาอาวุธปืนแล้ว จำคุกคนละ 16 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์บรรยายแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายทั้งห้า โดยแยกการกระทำของจำเลยทั้งสี่กับพวกว่าร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายแต่ละรายอย่างไร การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 นำรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติที่ว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันเข้ารุมทำร้ายผู้เสียหายทั้งห้ามาพิจารณาประกอบคำวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งห้าโดยรวมไม่ได้แยกว่าใครเป็นใคร อันเป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียว จึงเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนและจะนำข้อเท็จจริงจากรายงานการสืบเสาะและพินิจมารับฟังในฐานะพยานหลักฐานเพื่อประกอบการวินิจฉัยการกระทำที่จำเลยทั้งสี่ถูกฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันชกต่อยและเตะผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้ง ถูกที่ใบหน้าและลำตัว และใช้ด้ามปืนเป็นอาวุธตีทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 อย่างแรง 2 ครั้ง จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันชกต่อย เตะ และกระทืบผู้เสียหายที่ 2 หลายครั้ง ถูกที่บริเวณใบหน้าและลำตัว จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันชกต่อยและเตะผู้เสียหายที่ 3 หลายครั้ง ถูกที่ใบหน้า ลำตัวและใช้ด้ามอาวุธปืนตีทำร้ายผู้เสียหายที่ 3 อย่างแรงหลายครั้ง ถูกที่ใบหน้า จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันชกต่อยและเตะผู้เสียหายที่ 4 หลายครั้ง ถูกที่ใบหน้าและลำตัว จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 4 ได้รับอันตรายแก่กาย และจำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันชกต่อยและเตะผู้เสียหายที่ 5 หลายครั้ง ถูกที่ใบหน้าและลำตัว จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 5 ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์จำเลยทั้งสี่แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสี่ก่อนพิพากษา ซึ่งจำเลยทั้งสี่ทราบรายงานการสืบเสาะและพินิจแล้วไม่ค้านศาลชั้นต้นจึงพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แล้วลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะพินิจจำเลยทั้งสี่เพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงนำมาประกอบดุลพินิจว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยทั้งสี่สถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลยทั้งสี่ต่อไปเท่านั้น มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่เป็นอย่างไรทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้พนักงานคุมประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น แม้ตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่ก็เป็นการรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยทั้งสี่เท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่จำเลยทั้งสี่ถูกฟ้องด้วย จึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาเป็นเหตุวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียวไม่ได้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 นำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติที่ว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันเข้ารุมทำร้ายผู้เสียหายทั้งห้าแล้ววินิจฉัยว่าการกระทำผิดของจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งห้าโดยรวม ไม่ได้แยกว่าใครเป็นใคร อันเป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวซึ่งต้องลงโทษเพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายโดยชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหลายกรรมต่างกันโดยแยกเป็น 5 ข้อ ซึ่งความผิดทั้งห้าฐานเป็นคนละขั้นตอนอีกทั้งจำเลยทั้งสี่ก็ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนากระทำความผิดต่อผู้เสียหายทั้งห้าแยกออกจากกัน การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติแล้วลงโทษจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จำคุกจำเลยทั้งสี่คนละกระทงละ 4 เดือน รวม 5 กระทง เป็นจำคุกคนละ 20 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 10 เดือน เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนแล้วเป็นจำคุกคนละ 16 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share