แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เสียหายซึ่งจะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายแจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบแล้วว่าจะทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อเป็นจำเลย เมื่อจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ขายดาวน์รถยนต์แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายโดยตรง โดยผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วย อีกทั้งขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะผู้เช่าซื้อ จึงเป็นผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 กับให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคารถยนต์จำนวน 280,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 83) จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนรถยนต์หรือใช้ราคาจำนวน 280,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นายจรัญผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1 ท – 5694 สงขลา ซึ่งเช่าซื้อมาจากบริษัทโตโยต้าสงขลา จำกัด ต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2542 ผู้เสียหายขายดาวน์รถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยเป็นผู้เช่าซื้อแทนในราคา 50,000 บาท จำเลยทำสัญญากับผู้เสียหายโดยใช้ชื่อในการทำสัญญาว่า นายดลหลี จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวและรับรถยนต์ไปแล้ว ตามสัญญาซื้อรถยนต์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่… การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าชื่อ ดลหลี ในการทำสัญญาซื้อรถยนต์ และระบุที่อยู่ว่า อยู่บ้านเลขที่ 87 ตำบลเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ทั้งที่จำเลยมีชื่อจริงว่า ทวี และมีที่อยู่จริงคือบ้านเลขที่ 1 หมู่ 2 ตำบลคลองเปีย อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร ประกอบกับขณะทำสัญญาผู้เสียหายขอดูบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านจากจำเลย แต่จำเลยไม่แสดงให้ผู้เสียหายดูจึงเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ อีกทั้งหลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยก็ไม่มาทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อตามที่ตกลงกันไว้ พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่แรกในการหลอกลวงผู้เสียหายเพื่อประสงค์จะไม่ให้ผู้เสียหายติดตามทวงรถยนต์คืนได้ โดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้จำเลยได้ไปซึ่งรถยนต์เสียหาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงผู้เสียหาย อันเป็นความผิดตามฟ้องที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายขายดาวน์รถยนต์ให้แก่จำเลยโดยรู้ว่าตามสัญญาเช่าซื้อห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ไปจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่น การกระทำของผู้เสียหายย่อมเป็นความฐานยักยอก จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายและไม่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยนั้น เห็นว่า แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เสียหายซึ่งจะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายแจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบแล้วว่าจะทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อเป็นจำเลย เมื่อจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ขายดาวน์รถยนต์แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายโดยตรงโดยผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วย อีกทั้งขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะผู้เช่าซื้อจึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าโจทก์บรรยายฟ้องขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 โดยให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป ดังนี้ ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า การที่ศาลสั่งให้จำเลยคืนรถยนต์หรือใช้ราคาจำนวน 280,000 บาท แก่ผู้เสียหาย เป็นการถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า รถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ท – 5694 สงขลาที่จำเลยฉ้อโกงไปจากผู้เสียหาย ไม่ใช่รถยนต์ของผู้เสียหาย แต่เป็นรถยนต์ของบริษัทโตโยต้าสงขลา จำกัด ซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองในฐานะผู้เช่าซื้อเท่านั้น ประกอบกับผู้เสียหายชำระค่าเช่าซื้อให้แก่บริษัทดังกล่าวประมาณ 120,000 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมา ดังนั้น เพื่อให้การคืนรถยนต์หรือใช้ราคาเป็นไปโดยถูกต้อง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรสั่งให้จำเลยคืนรถยนต์หรือใช้ราคาแก่เจ้าของ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนรถยนต์หมายเลยทะเบียน 1 ท – 5694 สงขลา หรือใช้ราคาจำนวน 280,000 บาท แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9