คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 796/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เกิดพายุไต้ฝุ่นน้ำท่วมทำให้ถนนที่โจทก์รับจ้างทำเสียหายโจทก์ซ่อมให้ดีตามเดิม ในสัญญาให้โจทก์รับผิดแม้ความเสียหายเกิดแต่เหตุสุดวิสัย โจทก์เรียกให้จำเลยใช้ค่าที่ต้องซ่อมถนนไม่ได้ โจทก์กับช่างของจำเลยตกลงกันให้โจทก์ซ่อมถนนตามราคาที่กำหนดแต่จะต้องได้รับอนุมัติจำเลยก่อน ข้อตกลงนั้นไม่ผูกพันนิติบุคคลจำเลย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติรับฟังได้ว่างานก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 24 สายโชคชัย-เดชอุดม ตอนที่ 5ระหว่างอำเภอสังขะ อำเภอขุขันธ์ ซึ่งบริษัทสากลสถาปัตย์ จำกัด โจทก์ได้ทำสัญญาไว้กับกรมทางหลวงจำเลยนั้น ต้องทำเป็น 5 ขั้น ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เมื่อเดือนกันยายน 2515 เกิดพายุไต้ฝุ่นและน้ำท่วมขณะนั้นการก่อสร้างดำเนินไปถึงขั้นที่ 4 ซึ่งถ้าบริษัทโจทก์ไม่ซ่อมส่วนที่เสียหาย ก็ไม่สามารถที่จะทำงานให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2513 ได้ ต่อมาหลังจากน้ำท่วมแล้วได้มีการสำรวจความเสียหาย และที่สุดบริษัทโจทก์ก็ได้บูรณะซ่อมทางที่ชำรุดให้กลับสู่สภาพเดิมแล้ว จึงเรียกเงินค่าชดเชย ซึ่งจำเลยปฏิเสธว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง

ที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาว่าการที่บริษัทโจทก์บูรณะซ่อมทางที่ชำรุดให้กลับสู่สภาพเดิมนั้นมิใช่เป็นการทำให้เปล่า หากแต่เป็นการที่จำเลยยอมรับตามข้อเสนอของบริษัทโจทก์ให้ทำการซ่อมโดยจ่ายเงินค่างานตามที่ได้สำรวจแล้วว่าเป็นจำนวนเงิน 315,382 บาท 75 สตางค์ ตามที่จำเลยแจ้งมาและบริษัทโจทก์ตกลงด้วยตามนั้น จำเลยจึงต้องจ่ายเงินตามจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทโจทก์นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามสัญญาข้อ 4 แห่งสัญญาที่ ก.ส.22/2513 ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2513 มีข้อความระบุไว้ชัดว่าถ้าสิ่งก่อสร้างเสียหายใด ๆ แม้เหตุสุดวิสัยประการใดก็ตามบริษัทโจทก์จะต้องเป็นผู้รับผิดในความเสียหายเหล่านี้และจัดหามาใหม่หรือแก้ไขให้คืนดีทั้งนี้ภายในพันธะที่มีอยู่ในสัญญาอันยังไม่ถึงที่สุด ซึ่งขณะที่เกิดความเสียหายนั้นยังอยู่ในระหว่างอายุของสัญญาและบริษัทโจทก์ยังก่อสร้างให้ไม่แล้วเสร็จ บริษัทโจทก์จึงมีความผูกพันที่จะต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามสัญญาที่ได้ตกลงไว้กับจำเลย จริงอยู่ บริษัทโจทก์อ้างว่า ได้มีการตกลงให้บริษัทโจทก์ซ่อมความชำรุดเสียหายโดยจำเลยจ่ายเงินชดเชยให้ตามราคาที่ช่างของจำเลยคำนวณราคาตามข้อตกลงในการประชุมร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งแม้จะมีข้อตกลงดังกล่าวจริงดังที่บริษัทโจทก์กล่าวอ้าง ก็จะต้องดำเนินการขออนุมัติกรมทางหลวงต่อไป และต่อมาบริษัทโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาก่อสร้างแก้ไขเพิ่มเติมส่วนที่ชำรุดเสียหาย ฉบับลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2516ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงกันไว้ว่าจำเลยจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่บริษัทโจทก์ดังกล่าวอ้างแต่อย่างใดเหตุดังกล่าว การที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าบริษัทโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยนั้นจึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว”

พิพากษายืน

Share