คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7948/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาท จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การปฏิเสธในข้อ 1ว่า ไม่เคยลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาท ลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม แต่ในข้อ 2 กลับปฏิเสธว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทซึ่งเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญโดยไม่มีการแจ้งให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้สลักหลังเช็คก่อน เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ให้ความยินยอมด้วยจำเลยที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิด ดังนี้เป็นการยอมรับว่าจำเลยที่ 3 เป็นคู่สัญญาในเช็คพิพาทฐานะผู้สลักหลัง และคำให้การของจำเลยที่ 3 ในข้อ 1 และข้อ 2 จึงขัดแย้งกันไม่ทราบว่าจำเลยที่ 3 ปฏิเสธหรือรับตามข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นนำสืบตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 แต่คำให้การของจำเลยที่ 3 เป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง คดีจึงยังมีประเด็นข้อพิพาท ที่โจทก์ยังต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้องจึงจะชนะคดีได้ จำเลยที่ 3 ได้ทราบหรือยินยอมในการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงวันที่สั่งจ่ายในขณะลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทแล้วเช็คพิพาทจึงไม่เสียไปและใช้ได้กับจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้สลักหลัง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้สลักหลังเช็คผู้ถือ ต้องร่วมกับผู้สั่งจ่ายรับผิดต่อโจทก์ผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 921,967 ประกอบมาตรา 989

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาปราสาทสุรินทร์ หมายเลข 0100851ลงวันที่ 1 มีนาคม 2535 จำนวนเงิน 600,000 บาท มีจำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อสลักหลังเป็นการอาวัลการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม2535 โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย”โจทก์ติดต่อทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 เพิกเฉย จำเลยที่ 2 ติดต่อไม่ได้และจำเลยที่ 3 ปฏิเสธ จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดในต้นเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,489.72 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 604,489.72 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 600,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยสลักหลังเช็คพิพาทตามฟ้อง ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้สลักหลังเช็คพิพาทเป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เช็คพิพาทมีการแก้ไขวันที่ลงในเช็คเป็นการแก้ไขสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของตั๋วเงิน โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ไม่ทราบถึงการแก้ไขดังกล่าวจำเลยที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิดตามเช็คพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 4,489.72 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า คำให้การของจำเลยที่ 3ขัดกันเอง ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ไม่เป็นการปฏิเสธฟ้องโจทก์ คดีสำหรับจำเลยที่ 3จึงฟังข้อเท็จจริงได้ตามฟ้อง โดยไม่ต้องสืบพยาน ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 3 ต่อไป พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องโดยจำเลยที่ 1 ที่ 2ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณารับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1ได้ออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2535สั่งจ่ายเงินจำนวน 600,000 บาท ชำระหนี้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2เป็นผู้สลักหลัง เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาประการแรกว่า คำให้การของจำเลยที่ 3 ขัดกันหรือไม่พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ในชั้นยื่นคำให้การจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธในข้อ 1 ว่า ไม่เคยลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาท ลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอมแต่ในข้อ 2 กลับปฏิเสธว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทซึ่งเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ โดยไม่มีการแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบ ซึ่งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะต้องแจ้งขอความยินยอมจากจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้สลักหลังเช็คก่อนเมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ให้ความยินยอมด้วย จำเลยที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิด อันเป็นการยอมรับว่าจำเลยที่ 3 เป็นคู่สัญญาในเช็คพิพาทฐานะผู้สลักหลังแต่อ้างเหตุว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญของเช็คพิพาท เช็คพิพาทจึงใช้กับจำเลยที่ 3 ไม่ได้ คำให้การของจำเลยที่ 3 ในข้อ 1และข้อ 2 จึงขัดแย้งกัน ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 3 ปฏิเสธหรือรับตามข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นนำสืบตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 ฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 เป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 3ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง คดียังมีประเด็นข้อพิพาทโจทก์ยังต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้องจึงจะชนะคดีได้แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาใหม่ และวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่าเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่สั่งจ่าย จากเดิมวันที่ 1 กันยายน 2534 เป็นวันที่ 1 มีนาคม 2535 โดยจำเลยที่ 3ไม่ทราบและไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 นั้น ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ทราบหรือได้ยินยอมด้วยในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่สั่งจ่าย และในขณะลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทแล้วเช็คพิพาทดังกล่าวจึงไม่เสียไปและใช้ได้กับจำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นผู้สลักหลัง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือ จึงต้องร่วมรับผิดกับผู้สั่งจ่ายต่อโจทก์ผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921, 967 ประกอบมาตรา 989
พิพากษายืน

Share