คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7936/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้คิดเครื่องหมายการค้า รูปไก่และคำว่า COCK ที่พิพาทในลักษณะประดิษฐ์ แล้วนำไปจดทะเบียน ไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 8 รายการสินค้าถ่านไฟฉายตามทะเบียนเลขที่ 20333 คำขอเลขที่ 31034 แต่ได้ ขาดการจดทะเบียนต่ออายุ จึงถูกเพิกถอนจากทะเบียนแล้วต่อมาจำเลยที่ 2 นำมาขอจดทะเบียนใหม่ตามคำขอเลขที่ 199611 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533โดยบริษัทจำเลยที่ 2 ตั้งขึ้นเมื่อปี 2482 มีจำเลยที่ 1เป็นผู้ก่อตั้งและผลิตถ่านไฟฉายโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว ส่วนโจทก์เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายสินค้าถ่านไฟฉายที่มีเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยที่ 2เท่านั้น ดังนี้ จำเลยทั้งสองมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยที่ 1เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทตามนัยบทบัญญัติมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท และโจทก์ไม่มีสิทธิห้ามจำเลยทั้งสองใช้ ยื่นคำขอ จดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปไก่กับคำว่า COCK ในลักษณะประดิษฐ์ เดิมเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของนายตุ่น ฉั่วตระกูล หรือนายสุข ไชยแสงสุขกุลบิดาโจทก์ โจทก์ใช้และทำการโฆษณาเผยแพร่มาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี จนเป็นที่รู้จักและนิยมแพร่หลายจำเลยที่ 1โดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 ได้นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปยื่นคำขอจดทะเบียนเลขที่ 199611 ต่อกองเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์สำหรับสินค้าจำพวกที่ 8 รายการสินค้าถ่ายไฟฉายขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปไก่กับคำว่า COCKในลักษณะประดิษฐ์ และมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยทั้งสองให้จำเลยที่ 1 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 199611 หากจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาห้ามจำเลยทั้งสองใช้ ยื่นคำขอจดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องใด ๆกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการชำระบัญชี จำเลยที่ 1เป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 2 สินค้าถ่านไฟฉายภายใต้เครื่องหมายการค้าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โดยนายตุ่นบิดาโจทก์เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายสินค้าถ่านไฟฉายดังกล่าวของจำเลยที่ 2 เท่านั้น จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2500 และจดทะเบียนต่ออายุ 10 ปี ครั้งสุดท้ายจดทะเบียนต่ออายุเมื่อปี 2520 ต่อมาเมื่อปี 2532 กิจการของจำเลยที่ 2ประสบการขาดทุน ต้องหยุดกิจการกรรมการและจำเลยที่ 2จึงมีมติให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปไก่กับคำว่า COCK เป็นของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2ตั้งบริษัทใหม่ จะให้จำเลยที่ 1 โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวกลับคืนให้จำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำฟ้องและคำให้การโดยคู่ความไม่ได้โต้เถียงกันว่า เดิมเครื่องหมายการค้ารูปไก่และคำว่า COCK ในลักษณะประดิษฐ์ที่พิพาทจำเลยที่ 2 ได้นำไปจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 8 รายการสินค้าถ่านไฟฉายตามทะเบียนเลขที่ 20333 คำขอเลขที่ 31034 เมื่อวันที่18 ธันวาคม 2500 แต่ได้ขาดการจดทะเบียนต่ออายุ จึงถูกเพิกถอนจากทะเบียนเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2530
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์หรือจำเลยทั้งสองมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปไก่และคำว่า COCK ในลักษณะประดิษฐ์ที่พิพาทดีกว่ากัน ศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์แล้ว ฟังข้อเท็จจริงได้ว่านายเกรียงบิดาจำเลยที่ 1เป็นผู้คิดเครื่องหมายการค้ารูปไก่และคำว่า COCK ในลักษณะประดิษฐ์ที่พิพาทแล้วนำไปจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 8รายการสินค้าถ่านไฟฉาย ตามทะเบียนเลขที่ 20333คำขอเลขที่ 31034 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2500 แต่ได้ขาดการจดทะเบียนต่ออายุ จึงถูกเพิกถอนจากทะเบียนเมื่อวันที่18 ธันวาคม 2530 และจำเลยที่ 2 นำมาขอจดทะเบียนใหม่ตามคำขอเลขที่ 199611 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533บริษัทจำเลยที่ 2 ตั้งขึ้นเมื่อปี 2482 โดยนายชวนปู่ จำเลยที่ 1เป็นผู้ก่อตั้งและผลิตถ่านไฟฉายโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวส่วนโจทก์เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายสินค้าถ่านไฟฉายที่มีเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยที่ 2 เท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทตามนัยบทบัญญัติมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท และไม่มีสิทธิห้ามจำเลยทั้งสองใช้ยื่นคำขอจดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าพิพาท
พิพากษายืน

Share