แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2เป็นสัญญาจะซื้อจะขายเพราะมีรายการวางมัดจำเป็นเงิน 100,000 บาท และมีรายการกำหนดวันเวลาชำระเงินไว้ครบถ้วนโดยแบ่งชำระเงิน 2 งวด ตามสัญญาข้อ 2.1 และ 2.2 ต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระเงินงวดแรก ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเพิ่มเงินมัดจำขึ้นอีก แต่ข้อความในสัญญาระบุชัดว่าผู้จะขายได้รับเงินจำนวน 2,382,261 บาท ไว้จากผู้จะซื้อซึ่งมีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายข้อ 2.1 แม้ผู้ร้องจะมีพยานมาเบิกความสนับสนุนอธิบายสัญญาเพิ่มเงินมัดจำว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินมัดจำก็ขัดกับข้อความในเอกสารฟังได้ว่าสัญญาเพิ่มเงินมัดจำคือหลักฐานการชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายนั่นเอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิริบเงิน จำนวน 2,382,261 บาท ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 378(2) ได้ เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายแล้ว ผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 วรรคแรก ผู้ร้องจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่บอกเลิกสัญญาดังกล่าวได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งหกชั่วคราวเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องชำระหนี้ค่าซื้อขายที่ดินซึ่งชำระตามสัญญาจะซื้อจะขายจำนวน2,382,261 บาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินงานกิจการโรงเรียนจำนวน 525,947 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระพร้อมดอกเบี้ย ผู้ร้องได้ปฏิเสธหนี้เป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงได้ดำเนินการสอบสวนและในที่สุดได้มีหนังสือยืนยันจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดไปยังผู้ร้องว่าผู้ร้องเป็นหนี้ค้างชำระจำเลยที่ 2 อยู่จำนวน 2,382,261 บาทและยืนยันให้ผู้ร้องนำเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จไปชำระแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้ร้องยื่นคำร้องสรุปใจความได้ว่า ผู้ร้องมิได้เป็นหนี้จำเลยที่ 2 แต่อย่างใดผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง รวมเนื้อที่ดินประมาณ 1 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวาพร้อมอาคารโรงเรียนวิทยานุกรณ์พณิชยการเชียงใหม่และกิจการ ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและกิจการของโรงเรียนดังกล่าวในราคา 4,500,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้วางเงินมัดจำไว้ให้ผู้ร้อง2 คราว โดยวางมัดจำตามสัญญาลงวันที่ 26 ธันวาคม 2527 เป็นเงิน100,000 บาทส่วนที่เหลืออีก 2,382,261 บาท ได้วางมัดจำเพิ่มตามสัญญาลงวันที่ 15 มกราคม 2528 ผู้ร้องได้มอบกิจการโรงเรียนและโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ 2 ยึดถือไว้ ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้เข้าครอบครองบริหารกิจการโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2527 และมีข้อตกลงตามสัญญา ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2527 ว่าจำเลยที่ 2จะชำระเงินที่ค้างอีกจำนวน 2,017,739 บาท ให้ผู้ร้องภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2528 ผู้ร้องจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ในที่สุดจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาไม่ชำระเงินที่ค้าง ผู้ร้องจึงบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายแก่จำเลยที่ 2และผู้ร้องมีสิทธิริบเงินมัดจำทั้งหมดได้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้จำนวน 2,382,261 บาท(อันเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำ) จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า การทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมทั้งอาคารและกิจการโรงเรียนระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2นั้น กำหนดวางมัดจำในวันทำสัญญาคือ วันที่ 26 ธันวาคม 2527เพียง 100,000 บาท ส่วนที่เหลือได้แบ่งชำระเป็น 2 งวด การชำระเงินงวดแรกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2528 จำนวน 2,382,261 บาทจึงเป็นการชำระราคาซื้อขายบางส่วน หาใช่เงินมัดจำไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาแก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2528 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้ร้องจึงต้องคืนเงินค่าซื้อขายงวดแรกจำนวน 2,382,261 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2528 ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือยืนยันหนี้ไป ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เงินจำนวน 2,382,261 บาท ถือไม่ได้ว่าเป็นเงินมัดจำ หากแต่เป็นเงินซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ชำระเป็นค่าซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและกิจการโรงเรียนบางส่วน เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายสิ้นสุดลง ผู้ร้องจึงไม่อาจริบเงินจำนวน 2,382,261 บาท ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(2) ซึ่งผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 วรรคแรกผู้ร้องจึงต้องคืนเงินจำนวนนั้นแก่จำเลยที่ 2 และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยได้ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย ร.1 ข้อ 2 ระบุว่า”ในการจะซื้อขายกันนี้ ผู้จะซื้อตกลงวางมัดจำไว้แล้วในวันนี้เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท โดยผู้จะขายได้รับเงินตามจำนวนดังกล่าวครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา ส่วนเงินที่คงค้างอยู่อีก 4,400,000 บาทผู้จะซื้อตกลงจะชำระเงินจำนวนดังกล่าว ดังรายการต่อไปนี้ 2.1…”เห็นว่า สัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ร.1 เป็นสัญญาจะซื้อจะขายเพราะมีรายการวางมัดจำเป็นเงิน 100,000 บาท และมีรายการกำหนดวันเวลาชำระเงินไว้ครบถ้วนตามสัญญาข้อ 2.1 และ 2.2 ต่อมาเมื่อถึงวันที่ 15 มกราคม 2528 ซึ่งเป็นวันกำหนดชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างงวดแรกตามสัญญาเอกสารหมาย ร.1 ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเพิ่มเงินมัดจำเอกสารหมาย ร.2 ขึ้นอีกแต่ข้อความในสัญญาดังกล่าวระบุชัดว่าผู้จะขายได้รับเงินจำนวน2,382,261 บาท ไว้จากผู้จะซื้อ เงินจำนวนดังกล่าวมีจำนวนเงินเท่ากับจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ร.1 ข้อ 2.1 แม้ผู้ร้องจะมีพยานมาเบิกความสนับสนุนอธิบายสัญญาเพิ่มเงินมัดจำว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินมัดจำก็ขัดกับข้อความในเอกสารไม่น่าเชื่อฟังได้ว่าสัญญาเพิ่มเงินมัดจำคือหลักฐานการชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ร.1 นั่นเอง ผู้ร้องหามีสิทธิริบเงินจำนวนดังกล่าวได้ไม่ เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน