คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4487/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะแล่นตามหลังรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายและจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์เข้าชนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายอย่างแรงจนเสียหลักล้มลงแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งซ้อนท้ายได้กระชากสร้อยคอทองคำที่คอผู้เสียหายไป การกระทำของจำเลยทั้งสองถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ จึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339,340 ตรี, 83 และให้นับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากโทษในคดีอาญาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ให้ลงโทษจำคุกคนละ15 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงลงโทษจำคุกคนละ 10 ปี ให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาเพียงคดีเดียว คำขอนับโทษคดีอื่นให้ยก จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 83 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ คนร้าย 2 คน ได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำการชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำ 1 เส้น หนัก2 สลึง พร้อมด้วยจี้ทองคำ 2 อัน หนัก 1 สลึง รวมราคา 2,700 บาทของนางอาภรณ์ เปรมปรีดิ์ ผู้เสียหาย แล้วคนร้ายใช้ยานพาหนะดังกล่าวพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นจากการจับกุม มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนางอาภรณ์ เปรมปรีดิ์ ผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า จำจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคนร้ายได้เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนแต่ตรงที่เกิดเหตุมีเสาไฟฟ้าติดหลอดนีออน 1 ดวง ส่องสว่าง ผู้เสียหายเห็นหน้าจำเลยทั้งสองชัดเจนในระยะใกล้นานประมาณ 3 นาที ผู้เสียหายแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทันทีหลังเกิดเหตุโดยแจ้งรูปพรรณสัณฐานของจำเลยเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้ ผู้เสียหายก็ชี้ตัวจำเลยทั้งสองได้ถูกต้องตามบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาพร้อมภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.3 เมื่อผู้เสียหายกับเจ้าของบ้านเช่าออกไปดูที่เกิดเหตุหลังเกิดเหตุก็พบรถผู้เสียหายยังล้มคว่ำอยู่และพบบังโคลนรถของคนร้ายตกอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ซึ่งโจทก์มีนายสุพจน์ทวดสุวรรณ เจ้าของรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยยืมไปใช้ในการกระทำความผิดและร้อยตำรวจเอกเสรีย์ นาประดิษฐ์ พนักงานสอบสวนมาเบิกความของผู้เสียหาย โดยนายสุพจน์เบิกความว่าในวันเกิดเหตุเวลา4 โมงเย็น จำเลยที่ 1 ได้มายืมรถจักรยานยนต์ของพยานไป และนำมาคืนในเวลาประมาณ 20 นาฬิกาของวันเดียวกัน ปรากฏว่าบังโคลนหน้ารถหายไป พยานได้สอบถาม จำเลยที่ 1 บอกว่านำรถดังกล่าวไปชนกับรถคันอื่นต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 บอกพยานว่ายืมรถดังกล่าวไปกระชากสร้อยส่วนร้อยตำรวจเอกเสรีย์เบิกความว่าเมื่อจับจำเลยทั้งสองได้ได้ให้ผู้เสียหายชี้ตัว ผู้เสียหายดูแล้วยืนยันว่าคนทั้งสองเป็นคนร้าย แสดงว่าผู้เสียหายจำจำเลยทั้งสองได้จริง นอกจากนี้ร้อยตำรวจเอกเสรีย์ยังเบิกความว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพฐานวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ ตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.10, จ.11 ร้อยตำรวจเอกเสรีย์ นำจำเลยทั้งสองไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ตามภาพถ่ายการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.4 บันทึกการชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย จ.12 พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความมีเหตุผลสอดคล้องต้องกัน เชื่อได้ว่าเบิกความไปตามความเป็นจริง การที่จำเลยทั้งสองนำชี้ที่เกิดเหตุให้ถ่ายภาพไว้ต่อหน้าประชาชนและให้การรับสารภาพฐานวิ่งราวทรัพย์ เห็นได้ว่าจำเลยกระทำโดยความสมัครใจ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงพยานฐานที่อยู่ของจำเลยไม่อาจฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ และการที่จำเลยที่ 2 ขับขี่รถจักรยานยนต์เข้าชนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายอย่างแรงจนเสียหลักล้มลง แล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งซ้อนท้ายได้กระชากสร้อยคอทองคำพร้อมด้วยจี้ทองคำที่คอของผู้เสียหายไปถือว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายในการชิงทรัพย์ คดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share