แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต มิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียปรียบก็ตาม กรณีเพียงแต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียว นิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ก็ย่อมถูกเพิกถอนเสียได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237
บ. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อ 10 ปีมาแล้ว โดยหวังจะให้จำเลยเลี้ยงดู แต่จำเลยที่ 1 ได้ด่าว่า บ. บ. จึงต้องไปอาศัยอยู่กับโจทก์ที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ไม่เคยดูแลเวลาป่วยก็ไม่พาไปโรงพยาบาล จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ก่อนที่ บ. ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณเพียง 1 เดือนเพื่อจะไม่ให้ บ. เรียกคืนโดยจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้ บ. เสียเปรียบ หาก บ. ไม่ถึงแก่ความตายในขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 บ. ย่อมขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237
บ. ได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อสิทธิเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้ ขณะที่ บ. ทำพินัยกรรม บ. มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการให้ที่ดินระหว่าง บ. กับจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีก่อนย่อมผูกพันคู่ความตามมาตรา 145 วรรคหนึ่งแห่ง ป.วิ.พ. นอกจากนี้ บ. ยังมีสิทธิในการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 อันทำให้ บ. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ สิทธิทั้งสองดังกล่าวเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของ บ. การที่ บ. มีเจตนาทำพินัยกรรมให้โจทก์มีสิทธิตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีก่อน รวมทั้งสิทธิในการขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทด้วย เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามที่ระบุในพินัยกรรมจึงถือไม่ได้ว่า บ. ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อื่น พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองจึงมีผลสมบูรณ์บังคับได้ตามกฎหมาย สิทธิตามที่กล่าวในที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ในฐานะผู้รับพินัยกรรมตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้
โจทก์รู้เรื่องจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ไปติดต่อที่สำนักงานที่ดิน เมื่อนับระยะเวลาจากวันที่โจทก์รู้เรื่องจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จนถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้อง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวและส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาตามคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๒ ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก่อนที่ บ. จะฟ้องเรียกถอนคืนการให้ แม้ศาลจะพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ คืนที่ดินพิพาทให้ บ. แต่คำพิพากษาคดีดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ฟ้องของโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ บ. มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทในขณะที่ทำพินัยกรรม พินัยกรรมจึงไม่มีผลตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสอง ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยทั้งสองพร้อมด้วยบริวารออกไปจากที่ดิน แปลงดังกล่าวและคืนโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ ๒,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๑,๕๐๐ บาท แทนโจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๑ เป็นบุตรของ บ. จำเลยที่ ๒ เป็นบุตรของจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ ต่อมาวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๓๖ บ. ได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ขอถอนคืนการให้ที่ดินพิพาท เพราะเหตุจำเลยที่ ๑ ประพฤติเนรคุณ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๗ ให้จำเลยที่ ๑ คืนที่ดินพิพาทแก่ บ. ตามคำพิพากษาคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ ๑๐๘๘/๒๕๓๗ ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๘ บ. ได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง ตามเอกสารหมาย จ.๖ ต่อมา บ. ได้ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ ๑ ได้เข้าเป็นคู่ความแทน ภายหลังศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ปรากฏตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ เอกสารหมาย จ.๘ คดีถึงที่สุด โจทก์ทั้งสองได้นำสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ และพินัยกรรมไปเพื่อจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ ๑ แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ เพราะจำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ ไปก่อนแล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสอง ประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ ๒ จะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ ที่จะไม่ต้องถูกเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ นั้น นอกจากจำเลยที่ ๒ จะต้องกระทำการโดยสุจริตหรืออีกนัยหนึ่งมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นการให้ บ. เสียเปรียบแล้ว จำเลยที่ ๒ จะต้องรับโอนที่ดินพิพาทโดยมีค่าตอบแทนอีกด้วย แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินพิพาท ให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยเสน่หา ดังนี้ แม้จำเลยที่ ๒ จะรับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตหรืออีกนัยหนึ่งมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้ บ. ต้องเสียเปรียบตามที่จำเลยที่ ๒ นำสืบก็ตาม กรณีเพียงแต่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียว นิติกรรมการ จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ก็ย่อมถูกเพิกถอนเสียได้ตามมาตรา ๒๓๗ ดังกล่าว ปัญหา จึงอยู่ที่ว่าการที่จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ นั้น จำเลยที่ ๑ ได้รู้หรือไม่ว่าเป็นทางให้ บ. ต้องเสียเปรียบเกี่ยวกับปัญหานี้โจทก์ทั้งสองได้อ้างอิงสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๐๘๘/๒๕๓๗ ของศาลชั้นต้น ที่ บ. ได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ขอถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทเพราะเหตุจำเลยที่ ๑ ประพฤติเนรคุณเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ ปรากฏว่า บ. ได้เบิกความไว้ในคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๓๖ มีใจความว่า ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย (จำเลยที่ ๑ คดีนี้) เมื่อ ๑๐ ปีมาแล้ว โดยหวังจะให้จำเลยเลี้ยงดู แต่เมื่อเดือนห้าปีนี้จำเลยได้ด่า บ. ว่าเฒ่าก็เฒ่า เมื่อไรจะตาย จะไปตายที่ป่าช้าหรือไปตายที่วัด บ. จึงต้องไปอาศัยอยู่กับ ส. (โจทก์ที่ ๑ คดีนี้) หลังจากนั้นจำเลยไม่เคยดูแล เวลาป่วยก็ไม่พาไปโรงพยาบาลไม่ส่งข้าวส่งน้ำ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อคำนึงถึงว่า บ. ได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ขอถอนคืน การให้ที่ดินพิพาทเพราะเหตุจำเลยที่ ๑ ประพฤติเนรคุณเป็นคดีดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๓๖ กรณีจึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า ก่อนฟ้องคดีดังกล่าว บ. กับจำเลยที่ ๑ เคยมีเรื่องผิดพ้องหมองใจกันมาแล้วอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้ บ. ซึ่งเคยอยู่อาศัยกับจำเลยที่ ๑ ต้องไปอยู่อาศัยกับโจทก์ที่ ๑ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ย่อมต้องรู้เรื่องดังกล่าวอยู่แก่ใจเป็นอย่างดี ที่จำเลยที่ ๑ เบิกความอ้างว่าไม่เคยมีสาเหตุทะเลาะวิวาทหรือขัดใจกับ บ. มาก่อนจึงไม่สมเหตุผลให้น่าเชื่อถือ และปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๖ ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ บ. ฟ้องจำเลยที่ ๑ ขอถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทเพราะเหตุจำเลยที่ ๑ ประพฤติเนรคุณเป็นคดีดังกล่าวเพียง ๑ เดือน จากพฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อได้ว่าจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ เพื่อจะไม่ให้ บ. เรียกคืนโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้ บ. เสียเปรียบ ดังนี้ หาก บ. ไม่ถึงแก่ความตายในขณะคดีที่ บ. ฟ้องจำเลยที่ ๑ ขอถอนคืนการให้ ที่ดินพิพาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๑ บ. ย่อมขอให้เพิกถอนนิติกรรม การจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ได้ตามมาตรา ๒๓๗ ดังกล่าวข้างต้น หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จำเลยที่ ๒ ไม่ได้รับความคุ้มครองที่จะไม่ต้องถูกเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ตามมาตรา ๒๓๗ ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อ บ. ได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง ตามเอกสารหมาย จ.๖ ขณะที่คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๐๘๘/๒๕๓๗ ของศาลชั้นต้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ต่อมา บ. ถึงแก่ความตาย จึงมีปัญหาว่าพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย จ.๖ สมบูรณ์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ขณะที่ บ. ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย จ.๖ นั้น ที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยที่ ๒ อยู่ บ. จึงไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่น ในปัญหานี้ เมื่อพิเคราะห์พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย จ.๖ ตามข้อความในข้อ ๑ ที่ระบุว่า ” ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่ความตายไปแล้ว บรรดาทรัพย์สิน ของข้าพเจ้าที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมนี้ให้เป็น ผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ ๑.๑ ที่นาเนื้อที่ประมาณ ๖ ไร่ ๙๐ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๑๕๕ ขอยกให้ ส. (โจทก์ที่ ๑) กับ ภ. (โจทก์ที่ ๒) โดยตกลงยกให้ ส. จำนวน ๔ ไร่ และยกให้ ภ. จำนวน ๒ ไร่ ๙๐ ตารางวา” แล้ว เห็นว่า สิทธิเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้ ขณะที่ บ. ทำพินัยกรรมนั้น บ. มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการให้ที่ดินระหว่าง บ. กับ จำเลยที่ ๑ ในคดีก่อน แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีก่อนย่อมผูกพันคู่ความตามมาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นอกจากนี้ บ. ยังมีสิทธิในการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ อันทำให้ บ. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ สิทธิทั้งสองดังกล่าวเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาท จึงเป็นทรัพย์สินของ บ. การที่ บ. ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย จ.๖ โดยมีข้อความในข้อ ๑ ดังที่กล่าวมานั้น เห็นได้ว่า บ. มีเจตนาทำพินัยกรรมให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีก่อนรวมทั้งสิทธิในการขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเป็นสิทธิ ที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทด้วย เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามที่ระบุในพินัยกรรม จึงถือไม่ได้ว่า บ. ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อื่นตามที่จำเลยที่ ๒ ยกขึ้นอ้างในฎีกา พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย จ.๖ จึงมีผลสมบูรณ์บังคับได้ตามกฎหมาย สิทธิตามที่กล่าวในที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับพินัยกรรมตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ ๒ ได้รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ ๑ โดยไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๒๓๗ ดังวินิจฉัยมา โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียน โอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปมีว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองรู้เรื่องจำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่ จำเลยที่ ๒ ในวันที่ไปติดต่อที่สำนักงานที่ดิน เมื่อนับระยะเวลาจากวันที่โจทก์ทั้งสองรู้เรื่องจำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรม โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ จนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรม การจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ เป็นคดีนี้ (โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๐) ยังไม่พ้นกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองรู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๐ คดีโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชนะคดีมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ .