แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่นายจ้างอนุมัติให้ลูกจ้างลาออกจากงานก่อนวันที่ลูกจ้างขอลาออกมิใช่เป็นการเลิกจ้างอันนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเพราะการให้ออกจากงานมิใช่เป็นความความริเริ่มของนายจ้างเอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๒๖ โจทก์ยื่นใบลาออกจากงานโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ เป็นต้นไป แต่จำเลยกลับให้โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๖ การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินโบนัสแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มีเจตนาจะลาออกจากงานด้วยความสมัครใจจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์เพียงแต่อนุมัติให้โจทก์ลาออกก่อนกำหนดตามใบลาออกของโจทก์เท่านั้น จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ถึงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๖ ที่อนุมัติให้โจทก์ลาออกแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์มีสิทธิจะได้รับค่าจ้างนับจากวันที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ออกไปจนถึงวันที่โจทก์ประสงค์จะขอลาออกรวม ๑ เดือนครึ่งเป็นเงิน ๗,๓๕๐ บาท จำเลยไม่มีระเบียบจ่ายเงินโบนัส ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ๑๔,๗๐๐ บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า หนังสือลาออกของโจทก์มีข้อความว่า “เนื่องจากข้าพเจ้ามีความประสงค์จะขอลาออกจากงานด้วยเหตุผลดังนี้ ๑) บริษัทมีคนล้นงาน ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายของบริษัทโดยไม่จำเป็น ๒) มีความประพฤติไม่เหมาะสมผิดระเบียบของบริษัท ๓)เหตุผลส่วนตัวบางประการ ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอลาออกจากงานตั้งแต่วันที่ ๒๙ ก.พ. ๒๖ เป็นต้นไป” หนังสือดังกล่าวลงวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๒๖ นายสาธิต กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยมีคำสั่งในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๒๖ นั้นเองว่า “อนุมัติให้ลาออกตั้งแต่วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๖ เป็นต้นไป” และได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ถึงวันที่อนุมัติให้โจทก์ลาออกแล้ว เห็นว่า จำเลยมิได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานโดยความริเริ่มของจำเลยเอง แต่เป็นการอนุมัติให้โจทก์ลาออกตามที่โจทก์แสดงเจตนาจะออกจากงานโดยสมัครใจไว้ เพียงแต่ให้โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดตามหนังสือขอลาออกเท่านั้น หากโจทก์จะเสียหายอยู่บ้างก็ตรงที่ไม่ได้รับค่าจ้างภายหลังจากวันที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกถึงวันที่โจทก์ประสงค์จะออกเท่านั้น การกระทำของจำเลยไม่ใช่การให้ลูกจ้างออกจากงานโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดตามความหมายในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ จึงมิใช่การเลิกจ้าง
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์