คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3710/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาในฐานะดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530และเป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290ซึ่งเป็นกฎหมายจัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยขึ้นให้มีอำนาจหน้าที่ในการสร้างทางพิเศษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการเวนคืน เพื่อสร้างทางพิเศษเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย และการดำเนินการ เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ และวัตถุประสงค์ของกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 3 ตามประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 เรื่องปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมข้อ 19 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 อีกหลายฉบับ ต่อมามีการยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 โดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 มาตรา 3 และบัญญัติอำนาจหน้าที่นี้ของจำเลยที่ 3 ไว้ในมาตรา 19 ดังนั้นเมื่อโจทก์อ้างว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โจทก์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ได้ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะดังนี้การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ถึง (5) ประกอบกัน ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยคำนึงถึงราคาที่ดินที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของปี2535 อันเป็นปีภายหลังจากคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯได้กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทน และจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินตามราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้แก่โจทก์ไปแล้ว ค่าทดแทนที่ดินที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดดังกล่าวนั้นจึงสูงกว่าค่าทดแทนที่ดินที่กำหนดโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาตรา 21(1) ถึง (5) ตามที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นกำหนดซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว ดังนี้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีกนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าการ มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรีจังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขต เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวันเขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 มาตรา 4 และจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2765, 2766 และ 3408เนื้อที่ 27, 30 และ 36 ตารางวา ตามลำดับ เมื่อปี 2530 มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ ที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลงถูกเวนคืน90 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นซึ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์รวมเป็นเงิน 5,445,000 บาท โจทก์เห็นว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงขอรับเงินค่าทดแทนไปก่อน และยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ การกำหนดเงินค่าทดแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่คำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่และราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม อีกทั้งไม่คำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของทรัพย์ที่ถูกเวนคืนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีเนื้อที่ 90 ตารางวา คิดเป็นเงิน 36,000,000 บาท โจทก์รับเงินไปแล้ว 5,445,000 บาท คงเหลือเงินที่ต้องชำระเพิ่มจำนวน 30,555,000บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี ตามอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,824,872.53 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 33,379,872.53 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี หรือในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินของต้นเงิน 30,555,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 3 มีรัฐมนตรีว่าการในฐานะผู้ทำการแทนเป็นเพียงเจ้าหน้าที่รักษาการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530เท่านั้นไม่ใช่เจ้าหน้าที่เวนคืน จำเลยที่ 1 ได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดกล่าวคือ เมื่อพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวประกาศใช้แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนขึ้นเพื่อกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนคณะกรรมการดังกล่าวประชุมแล้วให้ถือเอาราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมปี 2531 ถึง 2534 ของกรมที่ดินซึ่งมีราคาสูงกว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ เป็นเกณฑ์กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,445,000 บาท ซึ่งเกณฑ์การกำหนดเงินค่าทดแทนตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นได้คำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของที่ดินตลอดจนราคาซื้อขายตามปกติในท้องตลาดแล้วการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์จึงถูกต้องเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้วโจทก์ยื่นอุทธรณ์การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนถึง 2 ครั้งครั้งแรกของเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเพียงตารางวาละ 200,000 บาทแต่เมื่ออุทธรณ์ครั้งที่สองขอเพิ่มเป็นตารางวาละ 400,000 บาททั้งโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์เพิ่มอีก 8,125,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 2765, 2766 และ 3408 เนื้อที่รวม 93 ตารางวา ที่ดินดังกล่าวเกือบทั้งหมดอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ดพ.ศ. 2530 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนโดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เนื้อที่ 71 ตารางวา ตารางวาละ 70,000 บาท เป็นเงิน 4,970,000 บาท ส่วนที่ 2เนื้อที่ 19 ตารางวา ตารางวาละ 25,000 บาท เป็นเงิน 475,000 บาทรวมเป็นเงินค่าทดแทนจำนวน 5,445,000 บาท ต่อมาเมื่อรังวัดแบ่งแยกที่ดินแล้วปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 3408 ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นอีก1 ตารางวา รวมเป็น 34 ตารางวา คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นได้แก้ไขราคาค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 2765เนื้อที่ 27 ตารางวา จำนวนเงินค่าทดแทน 3,811,549.50 บาทเฉลี่ยแล้วตารางวาละ 141,168.50 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 2766เนื้อที่ 30 ตารางวา จำนวนเงินค่าทดแทน 4,235,055 บาท เฉลี่ยแล้วตารางวาละ 141,168.50 บาท เฉลี่ยแล้วตารางวาละ 141,168.50 บาทที่ดินโฉนดเลขที่ 3408 เนื้อที่ 34 ตารางวา จำนวน 6,178,746 บาทเฉลี่ยแล้วตารางวาละ 181,727.82 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้แก่โจทก์รวมทั้งสิ้นจำนวน 14,225,350.50 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ด้วย เห็นว่าตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา ในฎีกา ในฐานะดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ และวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 และเป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290ซึ่งเป็นกฎหมายจัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยขึ้นให้มีอำนาจหน้าที่ในการสร้างทางพิเศษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย และการดำเนินการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของมหาดไทยจำเลยที่ 3 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 เรื่องปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมข้อ 19 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 อีกหลายฉบับ ต่อมามีการยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 โดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมพ.ศ. 2534 มาตรา 3 และบัญญัติอำนาจหน้าที่นี้ของจำเลยที่ 3 ไว้ในมาตรา 19 ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โจทก์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาและฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนควรมีจำนวนเท่าไรโจทก์ฎีกาว่า เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนควรมีจำนวนตารางวาละ 400,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2ฎีกาว่า เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนฝ่ายจำเลยกำหนดให้รวมกันแล้วเป็นเงิน 14,225,350.05 บาท เป็นธรรมแล้วนั้น เห็นว่าไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ ดังนี้การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ถึง (5)ประกอบกัน กล่าวคือ (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 (2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ (3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น (5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ที่โจทก์นำสืบว่า ในปี 2531 เมื่อโจทก์ทราบว่าที่ดินของโจทก์จะถูกเวนคืน โจทก์ได้หาซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงเพื่อใช้ประกอบกิจการค้าต่อไป จึงทราบว่าที่ดินบริเวณใกล้เคียงซื้อขายกันในราคาท้องตลาดไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 400,000 บาทเห็นว่า ราคาดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลที่ได้มาจากการสอบถามเป็นพยานบอกเล่าไม่น่าเชื่อถือและที่นายมงคล ลิ้มผาสุข เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3827 เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ซึ่งที่ดินดังกล่าวอยู่ห่างที่ดินโจทก์ประมาณ 300 เมตร และอยู่ในถนนซอยห่างจากถนนเจริญกรุงมากกว่าที่ดินโจทก์เบิกความว่าพยานได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นายสุพัฒน์ วิริยะอำไพพงษ์ ราคาตารางวาละ 320,512 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.35 เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเป็นสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งทำกันในปี 2537 ภายหลังจากวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับเกือบ 7 ปี เมื่อเวลาผ่านล่วงเลยมานานเกือบ 7 ปี ราคาของที่ดินย่อมสูงขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ทั้งโจทก์ไม่มีหลักฐานว่ามีการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินนั้นตามราคาในสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวแล้วหรือไม่ จึงนำเอาราคาที่ปรากฏในสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.35 มาใช้เป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ดังกล่าวในวันที่ 1 มกราคม 2531 อันเป็นวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ไม่ได้และที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เฉลี่ยตารางวาละ200,000 บาท นั้น เป็นการกำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ดินที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของปี 2535 อันเป็นปีภายหลังจากคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนแล้ว และจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินตามราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้แก่โจทก์ไปแล้ว ค่าทดแทนที่ดินที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดดังกล่าวนั้นจึงสูงกว่าค่าทดแทนที่ดินที่กำหนดโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มาตรา 21(1) ถึง (5) ศาลฎีกาได้คำนึงถึงพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบถึงราคาที่ดินของโจทก์ดังกล่าวและราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ กับสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์แม้ตั้งอยู่ในถิ่นที่มีความเจริญสูงใกล้ถนนหลักคือถนนเจริญกรุง ถนนสุรวงศ์ แต่ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 2765 และ 2766 ไม่ได้อยู่ติดถนนสาธารณะ ส่วนโฉนดเลขที่ 3408 ติดซอยเจริญกรุง 43 ซึ่งเป็นถนนซอยมิใช่ถนนสายหลักประกอบเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแล้ว เห็นว่า ราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นกำหนดให้สำหรับโฉนดเลขที่ 2765 และ 2766 เฉลี่ยแล้วตารางวาละ 141,108.50 บาท และโฉนดเลขที่ 3408 เฉลี่ยแล้วตารางวาละ 181,727.82 บาท เป็นราคาที่กำหนดโดยได้คำนึงถึงมาตรา 21(1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีกนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share