แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระบุว่าจำเลยเป็นผู้ซื้อการที่โจทก์จะนำสืบว่าจำเลยทำแทนหรือถือกรรมสิทธิ์แทนก็เพื่อแสดงถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าที่ดินพิพาทเป็นของส. จำเลยมีชื่อในโฉนดที่ดินแทนส. การนำสืบเช่นนี้เป็นการนำสืบถึงการเป็นตัวการตัวแทนอีกส่วนหนึ่งหาใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารไม่กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94(ข) ที่จำเลยฎีกาว่าบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมายจ.4เป็นคำมั่นจะให้ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะบังคับได้นั้นจำเลยมิได้ให้การไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสอน แซ่เต็ง และนางไน้ แซ่เต็ง เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน2533 นายสอนได้ถึงแก่กรรมมีทายาทโดยชอบด้วยกฎหมาย 7 คนรวมทั้งโจทก์และจำเลย นายสอนมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินรวม 13 แปลงซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน 12 แปลงต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายสอน และเมื่อวันที่11 ธันวาคม 2533 จำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสอนได้ทำสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท โดยในส่วนที่ดินโฉนดที่ 55439 เลขที่ (ox 1880ตำบลสวนหลวง (คลองประเวศฝั่วใต้) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 4 ไร่ 39 ตารางวา จำเลยตกลงแบ่งให้โจทก์ในฐานะทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายจำนวน 2 ไร่ ส่วนของจำเลย 2 ไร่39 ตารางวา บนที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของห้างหุ้นส่วนจำกัดสินชวาลวัฒน์ โจทก์ประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินเป็นส่วนสัด จึงได้แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกส่วนในโฉนดที่ดินดังกล่าวตามสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกหลายครั้ง แต่จำเลยก็ไม่จัดการ ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกธรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวด้านทิศตะวันตกเป็นของโจทก์จำนวน 2 ไร่ด้านทิศตะวันออกเป็นของจำเลยจำนวน 2 ไร่ 39 ตารางวา ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยจดทะเบียนแบ่งแยก ถ้าจำเลยไม่สามารถส่งมอบที่ดินให้โจทก์ได้ตามส่วน ขอให้นำที่ดินออกขายทอดตลอดและนำเงินมาแบ่งกันระหว่างโจทก์กับจำเลยตามส่วน หากจำเลยไม่สามารถส่งมอบที่ดินให้โจทก์ได้ตามส่วนไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้จำเลยชดใช้ราคาแทนเป็นเงินจำนวน 44,000,000 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามฟ้อง โดยจำเลยซื้อมาจากนางสาวสะอาด โมราวรรณในราคา 8,195,000 บาท โดยได้กู้ยืมเงินจากธนาคารกสิกรไทยมาซื้อและจดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันเงินกู้แก่ธนาคารดังกล่าวในวันเดียวกัน ที่ดินพิพาทหาใช่ทรัพย์มรดกของนายสอนไม่ และจำเลยในฐานะส่วนตัวไม่เคยแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งแยกหรือให้ใช้ราคา ความจริงนางไน้ แซ่เต็งมารดาของจำเลยได้นำหนังสือซึ่งมีข้อความระบุให้ยกที่ดินจำนวน11 ไร่ และที่ดินพร้อมตึกแถวแขวงดินแดง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานครจำนวน 3 ห้อง ให้แก่นางไน้มาให้จำเลยลงลายมือชื่อ จำเลยจึงลงลายมือชื่อข้าง ๆ ข้อความดังกล่าว ส่วนข้อความอื่นจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อ จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย ส่วนลายมือชื่อของจำเลยที่ลงไว้ท้ายหนังสือดังกล่าวเพราะหลงกลนางไน้ นางไน้ได้แสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับโจทก์ ลายมือชื่อจำเลยที่ลงไว้ท้ายหนังสือจึงเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันจำเลย โจทก์ฉวยโอกาสนำหนังสือฉบับนี้มาฟ้องจำเลยเพื่อขอแบ่งทรัพย์มรดกโดยไม่เป็นความจริงจำเลยจึงไม่ต้องแบ่งแยกทรัพย์ตามฟ้องให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 55439 เลขที่ดิน 1880 ตำบลสวนหลวง(คลองประเวศฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ด้านทิศตะวันตกจำนวนเนื้อที่ 2 ไร่ ให้แก่โจทก์ ด้านทิศตะวันออกจำนวนเนื้อที่ 2 ไร่ 39 ตารางวา เป็นของจำเลยถ้าจำเลยไม่ไปจดทะเบียนแบ่งแยกให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งนี้หากจำเลยไม่สามารถส่งมอบที่ดินให้โจทก์ได้ก็ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน คำขออื่นให้ยก
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่านายสอน แซ่เต็ง และนางไม้ แซ่เต็ง เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และจำเลย นายสอนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่28 มิถุนายน 2533 และศาลได้มีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายสอนเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2533 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายสอนและจำเลยต้องแบ่งให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์และนางสาวสมพิศ สิลชวางวัฒน์ นางไน้ แซ่เต็งนางสาวสมลักษณ์ สินชงาลวัฒน์ นายอุทัย สินชวาลวัฒน์ พยานโจทก์ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายสอนซึ่งนายสอนได้ซื้อมาโดยใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนหลังจากนายสอนถึงแก่กรรมศาลได้มีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายสอนแล้วจำเลยได้ทำบันทึกตกลงแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของนายสอนโดยแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำนวน 2 ไร่ ตามแผนที่และบันทึกเอกสารหมายจ.3 จ.4 ที่ดินพิพาทเป็นที่ตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดสินชวาลวัฒน์ซึ่งนายสอนเป็นผู้ดูแลและดำเนินการเกี่ยวกับการเงินของห้างเห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวมาปรากฏว่านางไน้เป็นภริยานายสอนนอกนั้นเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์และจำเลย แต่ต่างไม่ได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาท จึงไม่น่าจะเบิกความเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยเฉพาะนางไน้เป็นมารดาของจำเลยเองและลงลายมือชื่อเป็นพยานไว้ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย จึงเชื่อได้ว่าพยานเบิกความไปตามความจริง นายสอนได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทมาจากนายทองคำ โมราวรรณ เพื่อตั้งโรงงานไสไม้และเลื่อยไม้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2509 มีกำหนดเวลาเช่า 20 ปีตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเฉพาะส่วนเอกสารหมาย ล.9 หลังจากที่ดินพิพาทเป็นเชื่อของจำเลยแล้ว นายสอนก็ยังใช้เป็นที่ประกอบกิจการโรงงานโดยได้ต่อใบอนุญาตเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2530ตามเอกสารหมาย ร.6 (ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 22784/2533ของศาลชั้นต้น)และยังใช้เป็นที่ตั้งของห้างหุ้นส่วนสินชวาลวัฒน์ซึ่งนายสอนเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2510 จนกระทั่งถึงแก่กรรม ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.26 จึงเห็นได้ว่านายสอนได้ใช้ที่ดินพิพาททำประโยชน์ตลอดมาไม่น่าเชื่อว่านายสอนจะปล่อยให้จำเลยซื้อที่ดินพิพาทไปเป็นของจำเลยเองและยังได้ความจากคำเบิกความของนางสาวสะอาด โมราวรรณ พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายที่ดินพิพาทตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า ก่อนครบกำหนดสัญญาเช่านายทองคำบิดาของพยานถึงแก่กรรม พยานได้เสนอขายที่ดินพิพาทให้แก่นายสอนและนายสอนได้ให้จำเลยมาตกลงทำสัญญาซื้อขายกับพยานย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ซื้อที่ดินพิพาทที่แท้จริงได้แก่นายสอนหาใช่จำเลยไม่ นอกจากนี้จำเลยมีสถานะเป็นเพียงหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดสิยชวาลวัฒน์ ไม่มีรายได้และอาชีพอื่นใด ในการกู้ยืมเงินมาซื้อที่ดินพิพาทนายมานิตย์ ไชยพาณิชย์พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารที่อนุมัติให้จำเลยกู้ยืมเงินได้เบิกความตอบคำถามค้นของทนายโจทก์ว่าตามหลักฐานการสำรวจหลักทรัพย์เอกสารหมาย จ.35 ระบุว่านายสอนกับนางไน้เป็นผู้ค้ำประกันและทั้งสองคนเริ่มอายุมากแล้วได้ให้จำเลยช่วยดูแลกิจการแทน แสดงให้เห็นว่ากิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสินชวาลวัฒน์มิใช่ของจำเลยแต่อย่างใดนายสุนทร สินชวาลวัฒน์พยานจำเลยซึ่งเป็นพี่ชายโจทก์และน้องชายจำเลยก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า ในการดำเนินกิจการของห้างพยานได้ช่วยจำเลยดูแลทั่วไปและคุมคนงานก่อสร้างโจทก์เคยเข้าไปช่วยจำเลยด้วย จึงเห็นได้ว่ากิจการต่าง ๆ ที่จำเลยทำอยู่เป็นของนายสอนโดยโจทก์ จำเลย และบุตรของนายสอนทุกคนช่วยนายสอนบริหารเท่านั้น ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่านายสอนเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของนายสอนที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระบุว่าจำเลยเป็นผู้ซื้อโจทก์จะนำสืบว่าจำเลยทำแทนหรือถือกรรมสิทธิ์แทนนายสอนไม่ได้เพราะเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) นั้น เห็นว่าการที่โจทก์นำสืบดังกล่าวก็เพื่อแสดงถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายสอนจำเลยมีชื่อในโฉนดที่ดินแทนนายสอนการนำสืบเช่นนี้เป็นการนำสืบถึงการเป็นตัวการตัวแทนอีกส่วนหนึ่งหาใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารไม่กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นคำมั่นจะให้ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะบังคับได้นั้น จำเลยมิได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสอนจึงต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
พิพากษายืน