แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยใช้บัตรเครดิตของธนาคาร ก. ในการซื้อสินค้าและบริการครั้งสุดท้าย ในวันที่ 21 กันยายน 2537 โจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาใช้บัตรเครดิตจากธนาคาร ก. แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2537 แต่จำเลยไม่ชำระตามกำหนดจึงต้องถือว่าธนาคาร ก. อาจบังคับสิทธิเรียกร้องหนี้นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไป เมื่อสัญญาใช้บัตรเครดิตเป็นกรณีที่ธนาคาร ก.ออกเงินทดรองไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บเงินจากจำเลยภายหลัง หนี้จากการใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าและบริการของจำเลยจึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 และครบกำหนดวันที่ 10 พฤศจิกายน 2539 แต่ปรากฏว่าหลังจากจำเลยใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าและบริการครั้งสุดท้ายแล้ว ธนาคาร ก. บอกกล่าวทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้ตลอดมา ปรากฏว่าหลังจากอายุความครบกำหนดแล้ว จำเลยได้ผ่อนชำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าและบริการให้แก่ธนาคาร ก. หลายครั้งตั้งแต่ปี 2540 ติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปี 2544 โดยชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 8 ตุลาคม 2544 พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่า จำเลยได้สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 จำเลยย่อมไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้ธนาคาร ก. และโจทก์ได้ และต้องเริ่มนับอายุความจากวันที่จำเลยชำระครั้งสุดท้ายซึ่งนับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 2 ปี สิทธิเรียกร้องในหนี้จากการใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าและบริการตามฟ้องดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 642,352.07 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอัตราร้อยละ 2.75 ต่อปี ของต้นเงิน 96,074.79 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงินบัญชีสินเชื่อธนวัฎ 233,432.80 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยให้โจทก์นำคำฟ้องมายื่นใหม่ (ที่ถูก เป็นไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมายื่นฟ้องใหม่) ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 121,334.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวน 96,074.79 บาท ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น แต่ทั้งนี้หากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศอัตราดอกเบี้ยสูงสุดลดลงต่ำกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ก็ให้ลดลงตามนั้นและต้องไม่เกินอัตราที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะเรียกได้ตามกฎหมาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อปี 2535 จำเลยทำสัญญาใช้บัตรเครดิตกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และจำเลยใช้บัตรเครดิตดังกล่าวแทนเงินสดในการซื้อสินค้าและบริการ ต่อมาปี 2545 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาใช้บัตรเครดิตให้แก่โจทก์…
จำเลยอ้างเป็นข้อต่อมาว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้จากการใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าและบริการขาดอายุความ เห็นว่า ตามคำเบิกความของนายนภดลพยานโจทก์ได้ความเพียงว่า จำเลยใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าและบริการครั้งสุดท้ายวันที่ 21 กันยายน 2537 โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2537 แต่จำเลยไม่ชำระตามกำหนดจึงต้องถือว่าธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) อาจบังคับสิทธิเรียกร้องหนี้นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไป เมื่อสัญญาใช้บัตรเครดิตเป็นกรณีที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ออกเงินทดรองไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บเงินจากจำเลยภายหลัง หนี้จากการใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าและบริการของจำเลยจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 และครบกำหนดวันที่ 10 พฤศจิกายน 2539 แต่ปรากฏว่าหลังจากจำเลยใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าและบริการครั้งสุดท้ายแล้ว ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บอกกล่าวทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้ตลอดมา และตามเอกสารหมาย จ.12 ปรากฏว่าหลังจากที่อายุความครบกำหนดแล้ว จำเลยได้ผ่อนชำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าและบริการให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หลายครั้งตั้งแต่ปี 2540 ติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปี 2544 โดยชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 8 ตุลาคม 2544 พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่า จำเลยได้สละประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 จำเลยย่อมไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และโจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาใช้บัตรเครดิตจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ และต้องเริ่มนับอายุความใหม่จากวันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายซึ่งนับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 2 ปี สิทธิเรียกร้องในหนี้จากการใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าและบริการตามฟ้องดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าและบริการ 121,344.56 บาทพร้อมดอกเบี้ยในต้นเงิน 96,074.79 บาท ให้แก่โจทก์…”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนโจทก์