แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คุณสมบัติที่สำคัญในการเป็นสมาชิกหรือกรรมการหรืออนุกรรมการของสหภาพแรงงานซึ่งดำเนินการขอจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 100,101(1) คือการเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานนั้น ๆ เพราะสหภาพแรงงานต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและระหว่างลูกจ้างด้วยกัน นอกจากนี้สหภาพแรงงานยังมีอำนาจหน้าที่ในการเรียกร้องเจรจาทำความตกลงกับนายจ้างแทนสมาชิกเพื่อประโยชน์ของสมาชิกอีกด้วย โจทก์ที่ 2 พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างไปแล้วจึงขาดคุณสมบัติในข้อที่เป็นสาระสำคัญในการเป็นสมาชิกหรือกรรมการของสหภาพแรงงาน
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทสหภาพแรงงาน คณะกรรมการบริหารของโจทก์ที่ 1 มีมติมอบหมายให้นายสม ใจมุ่ง เป็นผู้ดำเนินคดีแทนเมื่อวันที่ 23 ถึง 25 กันยายน2542 โจทก์ที่ 1 ได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2542 ที่ประชุมใหญ่ได้เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารโจทก์ที่ 1 โดยมีผู้ได้รับการเลือกตั้ง14 คน รวมทั้งโจทก์ที่ 2 คณะกรรมการบริหารดังกล่าวมีวาระ 2 ปีตามข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2542 โจทก์ที่ 1ได้ยื่นขอจดทะเบียนคณะกรรมการบริหารจำนวน 14 คน ดังกล่าวต่อนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนกลาง วันที่ 21 ธันวาคม 2542โจทก์ที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งจากจำเลยในฐานะนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนกลางว่าไม่รับจดทะเบียนกรรมการรายโจทก์ที่ 2โดยให้เหตุผลว่า โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของบริษัทเสริมสุขจำกัด (มหาชน) จึงขาดคุณสมบัติไม่อาจเป็นสมาชิกและกรรมการของสหภาพแรงงานโจทก์ที่ 1 ได้ การที่จำเลยไม่รับจดทะเบียนโจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 จึงมิชอบด้วยกฎหมายคือการสิ้นสุดการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน หรือการสิ้นสุดการเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 มีบทกฎหมายและข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้ว โจทก์ที่ 2 ยังคงเป็นสมาชิกตามข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยรับจดทะเบียนโจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการบริหารสหภาพแรงงานโจทก์ที่ 1 โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2542 ถึงวันที่ 22กันยายน 2544
จำเลยให้การว่า ตามข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 มิได้กำหนดให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจฟ้อง ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 95, 97 และข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 มีเจตนารมณ์ที่จะให้ลูกจ้างของบริษัทเสริมสุข จำกัด(มหาชน) เท่านั้นเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเสริมสุข ถ้าลูกจ้างคนใดพ้นจากการเป็นลูกจ้างของบริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน)ต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานเสริมสุขทันที โจทก์ที่ 2ซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) ได้ขอเกษียณอายุวิสามัญโดยให้เหตุผลว่าสุขภาพไม่แข็งแรงมีโรคประจำตัวบริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติให้โจทก์ที่ 2 เกษียณอายุวิสามัญแล้ว ต่อมาที่ประชุมของโจทก์ที่ 1 ได้เลือกโจทก์ที่ 2เป็นกรรมการสหภาพแรงงานเสริมสุขจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากโจทก์ที่ 2 ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 101(1)ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยจะต้องรับจดทะเบียนโจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการบริหารของโจทก์ที่ 1 หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์ที่ 2 เคยเป็นลูกจ้างของบริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) และได้รับอนุมัติให้เกษียณอายุวิสามัญตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2542 โจทก์ที่ 2 จึงพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของบริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) ในวันดังกล่าวต่อมาเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2542 โจทก์ที่ 1 ได้ประชุมใหญ่สามัญประจำปีและสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ได้มีมติเลือกคณะกรรมการบริหารของโจทก์ที่ 1 รวม 14 คน ซึ่งโจทก์ที่ 2เป็นบุคคลที่ได้รับเลือกคนหนึ่งด้วย วันที่ 18 ตุลาคม 2542โจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนคณะกรรมการบริหารของโจทก์ที่ 1ต่อจำเลย แต่จำเลยรับจดทะเบียนคณะกรรมการบริหารตามคำขอของโจทก์ที่ 1 ให้เพียง 13 คนเท่านั้น ยกเว้นโจทก์ที่ 2 โดยอ้างว่าโจทก์ที่ 2 พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของบริษัทเสริมสุข จำกัด(มหาชน) แล้ว ไม่มีสิทธิที่จะเป็นกรรมการบริหารของโจทก์ที่ 1เห็นว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 95วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานได้จะต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน หรือเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน…” มาตรา 100บัญญัติว่า “ให้สหภาพแรงงานมีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนของสหภาพแรงงานในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการจะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้” และมาตรา 101 บัญญัติว่า”ผู้ซึ่งจะได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการตามมาตรา 100 ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ (1) เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานนั้น…” ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า คุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งในการเป็นสมาชิกหรือกรรมการหรืออนุกรรมการของสหภาพแรงงานซึ่งดำเนินการขอจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 นั้น คือการเป็นลูกจ้างคนเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานนั้น ๆ นั่นเอง ทั้งนี้เพราะสหภาพแรงงานต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและระหว่างลูกจ้างด้วยกัน นอกจากนี้สหภาพแรงงานยังมีอำนาจหน้าที่ในการเรียกร้อง เจรจาทำความตกลงกับนายจ้างแทนสมาชิกเพื่อประโยชน์ของสมาชิกอีกด้วยฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของบริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว โจทก์ที่ 2จึงขาดคุณสมบัติในข้อที่เป็นสาระสำคัญในการเป็นสมาชิกหรือกรรมการของโจทก์ที่ 1 การที่จำเลยไม่จดทะเบียนให้โจทก์ที่ 2เป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 ตามคำขอของโจทก์ที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน