คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 789/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 แต่งตั้ง พ. ทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 เป็นการแต่งตั้งตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทน แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการถึงแก่ความตายไปจะเป็นผลให้สัญญาตัวแทนระงับไปก่อนที่ พ. จะยื่นอุทธรณ์ แต่ พ. ก็ยังคงมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของจำเลยที่ 2 จะเข้ามาปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ได้ อำนาจทนายความหาหมดสิ้นไปทันทีเมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายไม่ พ. จึงมีอำนาจลงนามในฐานะทนายจำเลยที่ 2 ในอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงิน กับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้บัตรเครดิตและฟ้องบังคับจำนองแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขณะคดีอยู่ระหว่างการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 1 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์เป็นกรณีพิเศษ 146,000 บาท จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ต่อมาศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 เวลา 9 นาฬิกา โดยในวันนัดมีทนายโจทก์มาศาล ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มา ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ซึ่งพิพากษายืนให้โจทก์ฟังโดยถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบผลคำพิพากษาดังกล่าวตามกฎหมายแล้ว ต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2546 ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่าการที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เพราะการส่งหมายนัดฟังคำสั่งให้แก่ฝ่ายจำเลยที่ 2 ไม่ชอบ เนื่องจากจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายไปก่อนหน้าแล้ว และที่อยู่ตามหมายนัดที่ส่งให้แก่ทนายจำเลยที่ 2 ผิด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ทนายจำเลยที่ 2 มีสิทธิลงชื่ออุทธรณ์แทนจำเลยที่ 2 หลังจากที่จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายได้หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 แต่งตั้งนายพัฒนพงศ์ สุขโกษา ทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 นั้น เป็นการแต่งตั้งตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทน แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการถึงแก่ความตายไปจะเป็นผลให้สัญญาตัวแทนระงับไปก่อนที่นายพัฒนพงศ์ทนายจำเลยที่ 2 จะยื่นอุทธรณ์ก็ตาม แต่นายพัฒนพงศ์ก็ยังคงมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของจำเลยที่ 2 จะอาจเข้ามาปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ได้ อำนาจทนายความหาหมดสิ้นไปทันทีเมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายไม่ นายพัฒนพงศ์จึงมีอำนาจลงนามในฐานะทนายจำเลยที่ 2 ในอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุผลที่ทนายจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจลงชื่อในอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2542 จนถึงบัดนี้เกินกำหนด 1 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีผู้ใดยื่นคำขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2 โดยไม่ปรากฏเหตุผลว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงสมควรให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42”
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share