แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการฟ้องร้องเกี่ยวด้วยของซึ่งต้องยึดเพราะไม่เสียภาษีหรือเพราะเหตุพึงริบโดยประการอื่นก็ดีหรือยึดเพื่อเอาค่าปรับก็ดีนั้น พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 100 บัญญัติให้หน้าที่พิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลย ถ้ามีข้อโต้เถียงเกิดขึ้นว่าค่าภาษีสำหรับของนั้นๆ ได้ส่งชำระถูกต้องแล้วหรือหาไม่ หรือว่าของนั้น ๆ ได้นำเข้ามา ๆ ได้ย้ายขนไป ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายหรือหาไม่ ถ้าจำเลยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ไม่ได้ จำเลยย่อมมีความผิด.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้บังอาจซื้อหรือรับไว้ซึ่งสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งหมด ราคา ๕,๓๒๕ บาท เป็นเงินอากรขาเข้าที่ต้องเสีย ๑,๒๑๖.๗๖ บาทไว้จากผู้อื่นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็ฯของนำเข้ามาโดยหลีกเลี่ยงอากร และจำเลยทั้งสองบังอาจร่วมกันซ่อนเร้นช่วยพาเอาไปเสียซึ่งของที่จำเลยที่ ๑ รับเอาไว้ ขอให้ลงโทษและริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดียังเป็นที่น่าสงสัย พิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรร์พิพากษากลับว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ.๒๔๘๒ มาตรา ๑๖,๑๗ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓ ให้วางโทษปรับเป็นเงิน ๔ เท่าราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยเป็นเงิน ๒๖,๑๖๗.๐๔ บาท โดยแยกปรับเรียงตามรายตัวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑ เป็นเงินคนละ ๑๓,๐๘๓.๕๒ บาทของกลางริบ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งความจากผู้แจ้งความนำจับว่า จำเลยทั้งสองลักลอบนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษี และสืบสวนได้ความว่าจำเลยทั้งสองได้นำสินค้าบรรทุกเกวียนไป จึงได้ไปทำการจับกุม ได้ของกลางที่ลานนวดข้างในบริเวณบ้านนายปั๋น ของกลางที่จังได้นี้ถูกซุกซ่อนปิดบังเอากองฟางทับปิดไว้ เห็นว่าจังหวัดตากที่เกิดเหตุเป็นจังหวัดชายแดนติดต่อกับประเทศพะม่า การกระทำของจำเลยทั้งสองในตอนที่นำของกลางไปไว้ที่ลานนวดข้าวที่บ้านนายปั๋นเป็นการซ่อนเร้นปิดบังเอากองฟางทับปิดของกลางไว้ ส่อให้เห็นได้ว่าจำเลยร่วมกันช่วยซ่อนเร้นช่วยพาเอาไปเสียซึ่งสินค้าของกลางโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้าม ข้อจำกัดตามข้อกล่าวหาของโจทก์ ที่จำเลยนำสืบในศาลไม่ตรงกับคำให้การขั้นสอบสวน และพยานจำเลยต่างก็เบิกความขัดแย้งแตกต่างกันไม่สมเหตุสมผล มีพิรุธหลายประการ
ในการฟ้องร้องอันเกี่ยวด้วยของซึ่งต้องยึดเพราะไม่เสียภาษีหรือเพราะเหตุพึงริบโดยประการอื่นก็ดี หรือยึดเพื่อเอาค่าปรับตามพระราชบัญญัติศุลการกรก็ดี มีมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ บัญญัติให้หน้าที่พิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลยทุกคดี ถ้ามีข้อโต้เถียงเกิดขึ้นว่าค่าภาษีสำหรับของนั้น ๆ ได้ส่งชำระถูกต้องแล้วหรือหาไม่ หรือว่าของนั้น ๆ ได้นำเข้ามา ฯลฯ ได้ย้ายขนไป ฯลฯ โดยชอบด้วยกฎหมายหรือหาไม่ เมื่อจำเลยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ไม่ได้ จำเลยย่อมมีความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยเสีย