คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7880/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หลังจากจำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 แล้ว จำเลยทั้งสองหลบหนีไป โดยจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 ไปด้วย หลังเกิดเหตุ 2 วัน พบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 จอดอยู่ที่ป้อมตำรวจ หากจำเลยทั้งสองมีเจตนาจะเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 ไปโดยทุจริตก็สามารถทำได้ แต่จำเลยที่ 2 กลับไปจอดไว้ที่ป้อมตำรวจ แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเพียงใช้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 เป็นยานพาหนะหลบหนีเท่านั้น หาได้มีเจตนาเอาไปโดยทุจริตไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 92, 295, 335, 358 เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นปฏิเสธเฉพาะฐานลักทรัพย์ นอกนั้นขอให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นความผิดสองกระทง จำคุกคนละกระทงกระทงละ 1 ปี ฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยที่ 1 กระทำความผิดอีกภายใน 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 กระทงละหนึ่งในสาม เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 ปี 4 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันทำร้ายผู้อื่น และทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงแรกและกระทงที่สองกึ่งหนึ่ง กระทงที่สามหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงแรกและกระทงที่สอง กระทงละ 8 เดือน กระทงที่สาม 10 เดือน 20 วัน สามกระทงรวมจำคุก 26 เดือน 20 วัน จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 6 เดือน สามกระทง รวมจำคุก 18 เดือน (ที่ถูกกระทงแรกและกระทงที่สองกระทงละ 6 เดือน กระทงที่สาม 8 เดือน สามกระทงรวมจำคุก 20 เดือน) ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยทั้งสองในความผิดฐานลักทรัพย์ คงให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำ หนด 16 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนแพร่ กธย – 612 ของนายพินิจ จินะฝั่น ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอยู่ในครอบครองของนายสมศักดิ์ จินะฝั่น ผู้เสียหายที่ 2 ล้มลง แล้วจำเลยทั้งสองกับพวกได้รุมทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 และนายนพดล พองาม ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ลำปาง บ – 6069 ของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลลำปางนิยมพานิช ผู้เสียหายที่ 4 ซึ่งอยู่ในครอบครองของนายสุชาติ ใจห่วง ผู้เสียหายที่ 5 จนผู้เสียหายที่ 2 และผู้เสียหายที่ 3 ได้รับบาดเจ็บ ตามผลการชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ตามลำดับ เสร็จแล้วจำเลยทั้งสองหลบหนีไปโดยจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 ไปด้วย ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 ไปจอดไว้ที่ป้อมตำรวจแพร่ธรรมารามห่างที่เกิดเหตุประมาณ 4 กิโลเมตร มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานลักทรัพย์รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า หลังจากจำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 แล้ว จำเลยทั้งสองหลบหนีไป โดยจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 ไปด้วย หลังเกิดเหตุ 2 วัน พบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 จอดอยู่ที่ป้อมตำรวจแพร่ธรรมาราม หากจำเลยทั้งสองมีเจตนาจะเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 ไปโดยทุจริตก็สามารถทำได้ แต่จำเลยที่ 2 กลับไปจอดไว้ที่ป้อมตำรวจดังกล่าว แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเพียงใช้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 เป็นยานพาหนะหลบหนีเท่านั้น หาได้มีเจตนาเอาไปโดยทุจริตไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share