คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 788/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามไล่ตามผู้เสียหายทั้งสองไปจนทันแล้วจำเลยที่ 3ตบหน้าและชิงเอาเงินของผู้เสียหายไป โดยจำเลยที่ 2 ล็อกคอผู้เสียหายอีกคนหนึ่งไว้เพื่อมิให้เข้าช่วยเหลือกัน จำเลยที่ 1 แนะนำให้พาผู้เสียหายทั้งสองเข้าไปในซอยเพราะเกรงว่าจุดที่เกิดเหตุอยู่ริมถนนอาจมีผู้ผ่านไปมาพบเห็น จำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็ล็อกคอและลากตัวผู้เสียหายเข้าไปในซอย แล้วจำเลยที่ 3 ลงมือทำร้ายผู้เสียหายอีกแม้จำเลยที่ 1 จะห้ามปรามก็เป็นขณะที่การประทุษร้ายต่อทรัพย์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นการกระทำร่วมกับจำเลยที่ 3 มาตั้งแต่ต้นจนเหตุการณ์สิ้นสุดลง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 83 จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามมาตรา339 วรรคสอง ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 3 ด้วยหรือไม่ จากข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์กับจำเลยที่ 3 นับตั้งแต่จำเลยทั้งสามได้ไล่ตามนายวันชัย เสลารัตน์และนายกำพร้า นาคกระสัย ผู้เสียหายทั้งสองจนไปทันกัน ณ จุดที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 3 ได้ทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองโดยการตบหน้าและชิงเอาเงินจำนวน 102 บาท ไปจากนายวันชัย เสลารัตน์ จากนั้นก็ได้ร่วมกันนำผู้เสียหายทั้งสองเข้าไปในซอยวัดสังข์กระจายและพูดข่มขู่มิให้นำความไปบอกแก่ผู้ใด หลังจากนั้นจึงได้ปล่อยตัวผู้เสียหายทั้งสองไป ระหว่างระยะเวลาเหล่านี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2ได้อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 3 โดยตลอด ทั้งยังได้ความต่อไปว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้เข้ามาล็อกคอนายกำพร้าไว้ ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 2เช่นนี้ก็ด้วยเจตนาที่จะไม่ให้นายกำพร้าเข้าช่วยเหลือผู้เสียหายนั่นเอง และการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้แนะนำให้พาผู้เสียหายทั้งสองเข้าไปในซอยวัดสังข์กระจาย โดยเกรงว่าตรงจุดที่เกิดเหตุอยู่ริมถนนเป็นการเสี่ยงต่อสายตาของผู้ที่สัญจรผ่านไปมาอาจพบเห็นโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงพาผู้เสียหายทั้งสองเข้าไปในซอยวัดสังข์กระจายในลักษณะล็อกคอดึงลากตัวไปและเมื่อเข้ามาในซอย ขณะจำเลยที่ 3 ลงมือทำร้ายโดยการตบหน้าผู้เสียหายอีก ส่วนที่จำเลยที่ 1 ได้ห้ามปรามนั้นก็เป็นขณะที่การประทุษร้ายต่อทรัพย์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ข้อเท็จจริงอันเป็นพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เช่นนี้จึงฟังได้แล้วว่าเป็นการกระทำที่ร่วมกับจำเลยที่ 3 มาตั้งแต่เริ่มต้นจนเหตุการณ์สิ้นสุดลง หาใช่เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้ามาอยู่ในเหตุการณ์ในลักษณะที่มีเจตนาเพื่อจะห้ามปรามจำเลยที่ 3 มิให้กระทำความผิดดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อสู้ไม่ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมีผลทำให้จำเลยที่ 3กลายเป็นมีความผิดเพียงฐานชิงทรัพย์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share