คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5564/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เดิมศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าโรงเรือนพิพาทปลูกสร้างอยู่บนที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบ จำเลยไม่อาจอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวมาสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโดยเหตุว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยใหม่ในประเด็นข้ออื่น ไม่ใช่เรื่องอำนาจฟ้องว่าโรงเรือนพิพาทปลูกสร้างอยู่บนที่ดินป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาใหม่แล้ว จำเลยกลับยื่นฎีกาเข้ามาใหม่ขอให้ศาลฎีกายกฟ้องโจทก์โดยอ้างเหตุเดิมอีกว่า โรงเรือนพิพาทปลูกสร้างอยู่บนที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาชี้ขาดคดีไปแล้ว ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินเนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 252/2 หมู่ที่ 6 ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2536 จำเลยทั้งสองทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวจากโจทก์เพื่อใช้ประกอบกิจการค้าร้านอาหารชื่อร้านทุ่งเกวียนทอง อัตราค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท ไม่มีกำหนดระยะเวลาเช่า แต่มีข้อตกลงให้ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองดัดแปลงหรือต่อเติมในสถานที่เช่าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ต่อมาเดือนธันวาคม 2538 โจทก์ประสงค์จะใช้ที่ดินและบ้านจึงบอกเลิกการเช่า ให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไป แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกการเช่าเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2539 โดยให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือแล้วแต่ไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปเป็นการละเมิด ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้เป็นเงินเดือนละ 15,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารออกจากที่ดินและบ้านเลขที่ 252/2 หมู่ที่ 6 ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปางและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทมีความกว้างยาวเท่าใด แต่ละทิศจดที่ดินของผู้ใด เป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ไม่ใช่ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทโดยเปิดเผยตลอดมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี จำเลยทั้งสองไม่เคยทำสัญญาเช่ากับโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายและค่าเสียหายสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านเลขที่ 252/2 หมู่ที่ 6 ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 15,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 มิถุนายน 2539) จนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยประเด็นอื่นตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาใหม่โดยพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดในชั้นนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่โจทก์จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นผู้ปลูกสร้างโรงเรือนร้านอาหารทุ่งเกวียนทอง ซึ่งต่อมาได้และบ้านเลขที่ 252/2 หมู่ที่ 6 ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2536 จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาเช่าโรงเรือนเลขที่ดังกล่าวกับโจทก์เพื่อประกอบกิจการร้านอาหารโดยไม่มีกำหนดเวลา ในอัตราเช่าเดือนละ 3,000 บาท ตามหนังสือสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาในเดือนธันวาคม 2538 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่เช่าภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2539 แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองให้ออกจากที่ดินและโรงเรือนพิพาทพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย
พิเคราะห์แล้ว จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โรงเรือนพิพาทปลูกสร้างอยู่บนที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า คดีนี้เดิมศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าที่โรงเรือนพิพาทปลูกสร้างอยู่บนที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบ จำเลยทั้งสองไม่อาจอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวมาสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโดยเหตุว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยใหม่ในประเด็นข้ออื่น ไม่ใช่เรื่องอำนาจฟ้องว่าโรงเรือนพิพาทปลูกสร้างอยู่บนที่ดินป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาใหม่แล้ว จำเลยทั้งสองกลับยื่นฎีกาเข้ามาใหม่ขอให้ศาลฎีกายกฟ้องโจทก์โดยอ้างเหตุเดิมอีกว่า โรงเรือนพิพาทปลูกสร้างอยู่บนที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นแห่งคดีที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาชี้ขาดคดีไปแล้ว การที่จำเลยทั้งสองยื่นฎีกาในประเด็นดังกล่าวเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยอีกย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว เท่ากับจำเลยทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนที่จำเลยทั้งสองชำระแก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ.

Share