คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3101/2549

แหล่งที่มา :

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่าบ้านเป็นของโจทก์ แต่ศาลจังหวัดสมุทรสาครฟังข้อเท็จจริงว่าไม่ใช่ของโจทก์ คดีถึงที่สุด โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนจำต้องผูกพันในคำพิพากษาของศาลจังหวัดสมุทรสาครตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคแรก แม้จะฟังว่าจำเลยทั้งห้า จำเลยร่วมกับพวกร่วมกันรื้อบ้านตามที่โจทก์ฟ้องก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ใช่เจ้าของบ้านดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 137/2 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 1137 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 29 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2538 จำเลยทั้งห้ากับพวกประมาณ 20 คน ร่วมกันทำลายทรัพย์สินและรื้อบ้านโจทก์จนพัง แล้วจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันขนทรัพย์สินมีค่าของโจทก์ทั้งหมด โจทก์ขอคิดค่าเสียหายในการรื้อบ้านเป็นเงิน 700,000 บาท และค่าเสียหายสำหรับทรัพย์สินซึ่งถูกทำลายและสูญหายไปเป็นเงิน 200,000 บาท การกระทำของจำเลยทั้งห้ากับพวกทำให้โจทก์ขาดไร้บ้านที่อยู่อาศัยต้องเช่าบ้านผู้อื่น จึงขอคิดค่าเสียหายอัตราเดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 180,000 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,080,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 15,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระราคาบ้านและทรัพย์สินตามฟ้องให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นหรือเป็นเวลา 5 ปี
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 และที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้เรียกกรมบังคับคดีเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยที่ 1 ให้การและจำเลยที่ 2 และที่ 5 กับจำเลยร่วมให้การสรุปได้ใจความว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 540/2538 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร คดีโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากได้เริ่มดำเนินการบังคับคดีเพื่อรื้อถอนบ้านเลขที่ 137/2 ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2534 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี แล้ว จำเลยทั้งห้ามิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์เพราะเดิมจำเลยที่ 5 เป็นโจทก์ฟ้องนางผูก โพธิ์วัฒนา เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสมุทรสาคร ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 920/2533 หมายเลขแดงที่ 173/2534 และศาลมีคำพิพากษาให้นางผูกและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 137/2 ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1138 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร จำเลยที่ 5 จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 รื้อบ้านเลขที่ดังกล่าวเพื่อดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมายไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งทรัพย์สินของโจทก์ไม่สูญหายแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วม โดยกำหนดค่าทนายความสำหรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 8,000 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 4 และจำเลยร่วม รวมกันเป็นเงิน 8,000 บาท จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 1,000 บาท และจำเลยที่ 5 เป็นเงิน 8,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่โจทก์ไม่ต้องใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์จำนวน 5,000 บาท แทนจำเลยที่ 2 ที่ 4 และจำเลยร่วม และจำนวน 5,000 บาท แทนจำเลยที่ 5 ส่วนจำเลยที่ 1 แก้อุทธรณ์ด้วยตนเองและจำเลยที่ 3 ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 540/2538 หมายเลขแดงที่ 1546/2542 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร ในคดีดังกล่าวโจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 137/2 หมู่ที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1137 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2536 จำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าวได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยบุกรุกเข้าไปรื้อค้นสิ่งของภายในบ้าน รื้อถอนฝาบ้านและหลังคาบ้านโจทก์ เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย ศาลจังหวัดสมุทรสาครฟังข้อเท็จจริงว่าบ้านเลขที่ 137/2 ดังกล่าวเป็นของนางผูก โพธิ์วัฒนา มารดาโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1138 หมู่ 1 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งศาลจังหวัดสมุทรสาครได้พิพากษาในคดีที่จำเลยที่ 1 เคยเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นางผูก คดีถึงที่สุดให้ขับไล่นางผูกและบริวารและให้รื้อถอนบ้านดังกล่าวออกไปจากที่ดินของจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 1138 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร จำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าวได้ดำเนินการบังคับคดีรื้อถอนบ้านนางผูกให้เป็นไปตามคำพิพากษาแล้ว ไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นวงศ์ญาติของนางผูกลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่แสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้ก่อนมีการบังคับคดี ส่วนในเรื่องทรัพย์สินที่โจทก์อ้างว่าเสียหายนั้น พยานโจทก์ไม่เห็นจำเลยหรือคนงานคนใดหยิบฉวยทรัพย์สินของโจทก์ไป และพยานก็ไม่รู้ว่าสิ่งของที่อยู่ในถุงนั้นเป็นอะไร ใช่ทรัพย์สินของโจทก์หรือไม่ อีกทั้งลักษณะของการนำถุงปุ๋ยออกไป ขนาดสิ่งของที่อยู่ในถุงกับทรัพย์ที่สูญหายไปมีขนาดแตกต่างกัน พยานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์ในส่วนนี้เช่นกัน คดีมีปัญหาเบื้องต้นที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งห้า จำเลยร่วมในเรื่องที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันทำลายทรัพย์สินและรื้อบ้านเลขที่ 137/2 ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ในคดีนี้เป็นโจทก์ในคดีก่อนกล่าวอ้างในฟ้องว่าบ้านเลขที่ 137/2 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1137 เป็นบ้านของโจทก์ แต่ศาลจังหวัดสมุทรสาครฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นบ้านของนางผูกปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1138 ของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ เท่ากับว่า ศาลจังหวัดสมุทรสาครฟังข้อเท็จจริงว่าบ้านเลขที่ 137/2 นั้น ไม่ใช่บ้านของโจทก์ในคดีก่อน ส่วนเรื่องทรัพย์สินที่โจทก์คดีก่อนอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเอาทรัพย์ไป แต่ศาลจังหวัดสมุทรสาครฟังว่าลักษณะอาการของการนำถุงปุ๋ยออกไป ขนาดสิ่งของที่อยู่ในถุงกับทรัพย์ที่สูญหายไปมีขนาดแตกต่างกันมากนักนั้น เท่ากับศาลจังหวัดสมุทรสาครฟังข้อเท็จจริงว่าทรัพย์สินของโจทก์ในคดีก่อนไม่ได้สูญหายไป โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นคู่ความในคดีก่อนจำต้องผูกพันในพิพากษาของศาลจังหวัดสมุทรสาครตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของบ้านเลขที่ 137/2 ตามที่กล่าวในฟ้อง แม้จะฟังว่าจำเลยทั้งห้า จำเลยร่วมกับพวกได้ร่วมกันทำลายทรัพย์สินและรื้อบ้านเลขที่ 137/2 ตามที่โจทก์ฟ้องก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ใช่เจ้าของบ้านดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนนี้ โดยอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายสำหรับทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินท้ายฟ้องที่โจทก์อ้างว่าถูกทำลาย ถูกลักและสูญหายไปได้หรือไม่นั้น ในปัญหานี้โจทก์ไม่มีพยานมาเบิกความยืนยันว่า เห็นจำเลยทั้งห้าคนใดทำลายหรือลักทรัพย์ดังกล่าว แต่กลับได้ความว่า ขณะที่รื้อถอนบ้านพิพาทโจทก์และญาติได้มาดูแลการรื้อถอนและเก็บของ นางจำปา แก้วแจ่ม น้องสาวโจทก์ก็เบิกความตอบคำถามถ้านทนายจำเลยที่ 1 ประกอบภาพถ่ายหมาย ล.7 ว่าวันที่เจ้าพนักงานบังคบคดีมารื้อบ้านพิพาทญาติ ๆ ของพยานเป็นผู้ขนย้ายทรัพย์สิน ดังนี้ เมื่อการรื้อถอนบ้านพิพาทเป็นการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาล การรื้อถอนบ้านพิพาทมีการแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจมารักษาความสงบเรียบร้อยตามที่ฝ่ายจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมร้องขอ แสดงว่าฝ่ายจำเลยทั้งห้าประสงค์จะให้การบังคับคดีเป็นไปด้วยความถูกต้อง จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งห้าจะทำลายทรัพย์สินหรือลักทรัพย์ของโจทก์ไป คดีฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งห้ากระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share