คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7875/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าเครื่องเคหภัณฑ์ เครื่องเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า รวมทั้งอะไหล่และอุปกรณ์ของสินค้าดังกล่าว การที่โจทก์จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องเฟอร์นิเจอร์ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการในวัตถุประสงค์ของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น ประกอบกิจการโรงแรม การที่จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าประเภทเครื่องเฟอร์นิเจอร์จากโจทก์ก็เพื่อนำไปใช้ในกิจการโรงแรมของจำเลยที่ 1 อันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 จึงเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ฉะนั้นการที่โจทก์ฟ้องเรียกราคาค่าสินค้าประเภทเครื่องเฟอร์นิเจอร์ที่ค้างชำระจากจำเลยที่ 1 จึงต้องใช้อายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5)
การซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้กำหนดเวลาอันพึงชำระหนี้ไว้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันและฝ่ายจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ก็ย่อมชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 ดังนั้นเมื่อโจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว สิทธิในการเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าจากจำเลยที่ 1 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบสินค้าจากโจทก์แต่ละคราว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ 5 รายการ เป็นเงิน 1,037,044.40 บาท จำเลยทั้งสี่จะต้องชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2542 แต่ไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 1,402,087.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,079,894.40 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับสินค้า โจทก์ส่งสินค้าตามที่กล่าวอ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ตามใบสั่งซื้อตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2538 หากนับเวลาตั้งแต่จำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าตามฟ้องจนถึงวันฟ้องเกินกำหนดเวลา 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,037,044.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 8 โจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าเครื่องเคหภัณฑ์ เครื่องเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้ารวมทั้งอะไหล่และอุปกรณ์ของสินค้าดังกล่าว การที่โจทก์จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องเฟอร์นิเจอร์ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการในวัตถุประสงค์ของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น ประกอบกิจการโรงแรม การที่จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าประเภทเครื่องเฟอร์นิเจอร์จากโจทก์ก็เพื่อนำไปใช้ในกิจการโรงแรมของจำเลยที่ 1 อันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 จึงเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ฉะนั้นการที่โจทก์ฟ้องเรียกราคาค่าสินค้าประเภทเครื่องเฟอร์นิเจอร์ที่ค้างชำระจากจำเลยที่ 1 จึงต้องใช้อายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่ากรณีเช่นนี้ต้องถืออายุความ 2 ปี นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า อายุความ 5 ปี เริ่มนับแต่เมื่อใด เห็นว่าการซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้กำหนดเวลาอันพึงชำระหนี้ไว้ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันและฝ่ายจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 ดังนั้น เมื่อโจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว สิทธิในการเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าจากจำเลยที่ 1 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบสินค้าจากโจทก์แต่ละคราว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อและค้างชำระราคาแก่โจทก์มี 4 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 988,980 บาท เมื่อคิดส่วนลดที่โจทก์ลดให้ร้อยละ 2 และภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7 แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า การสั่งซื้อสินค้ามีเงื่อนไขการชำระราคาตามใบสั่งซื้อเอกสารหมาย จ.6 อันมีเงื่อนไขว่าการจ่ายเงินจะกระทำต่อเมื่อแผนกบัญชีได้รับใบเสร็จและใบอินวอยซ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายและผ่านการตรวจสอบแล้ว เมื่อโจทก์ได้ส่งใบกำกับภาษี/ใบส่งของและใบส่งของชั่วคราวของสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อทั้งสี่ครั้ง ให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2542 จึงต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2542 นั้น เห็นว่า เงื่อนไขตามใบสั่งซื้อเอกสารหมาย จ.6 เป็นเพียงเงื่อนไขที่ว่าผู้ซื้อจะชำระเงินแก่ผู้ขายต่อเมื่อผู้ขายได้ส่งใบเสร็จรับเงินและใบส่งของใบแจ้งหรือแสดงรายการสินค้าที่ขายให้แก่ผู้ซื้อเท่านั้น หาใช่กำหนดเวลาชำระค่าสินค้าไม่ ทั้งการที่โจทก์จำหน่ายสินค้าแก่จำเลยตามใบส่งของชั่วคราวเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 2 ถึง 5 ก็มิได้เป็นการจำหน่ายตามใบสั่งซื้อเอกสารหมาย จ.6 ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ไม่อาจรับฟังได้
ปัญหาที่วินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระราคาค่าสินค้าแก่โจทก์เพียงใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์และค้างชำระราคามี 4 ครั้ง ตามใบสั่งของชั่วคราวเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 2 ถึง 5 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 988,980 บาท เมื่อคิดส่วนลดที่โจทก์ลดให้ร้อยละ 2 และภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7 แล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 1,037,044.40 บาท แต่ตามใบส่งของชั่วคราวเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 2 พนักงานของจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าวันที่ 26 มิถุนายน 2539 เมื่อพิจารณาเวลาดังกล่าววันที่ 23 กรกฎาคม 2544 ซึ่งเป็นวันฟ้องได้พ้นกำหนด 5 ปีแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าสินค้าตามใบส่งของชั่วคราวดังกล่าวได้ ส่วนค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระอีก 3 ครั้ง ตามใบส่งของชั่วคราวเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 3 ถึง 5 พนักงานของจำเลยที่ 1 รับสินค้าจากโจทก์แทนจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2539 วันที่ 28 ตุลาคม 2539 และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 เมื่อนับระยะเวลาดังกล่าวถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี ฟ้องโจทก์ตามใบส่งของชั่วคราวใน 3 ครั้งหลังจึงไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามใบส่งของชั่วคราวใน 3 ครั้งหลังดังกล่าว โดยคิดหักส่วนลดให้โจทก์ลดให้ร้อยละ 2 ของราคาสินค้าและรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเป็นเงิน 830,386.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดแต่ละคราว แต่โจทก์ขอดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2542 จึงให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ขอ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 830,386.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share