คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7721/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546 เป็นการร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ผู้เสียหายทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในบ้านของจำเลยและถูกจำเลยข่มขู่ว่าหากไม่ยิมยอมให้จำเลยกระทำชำเราจะส่งตัวผู้เสียหายให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง ผู้เสียหายอยู่ในภาวะเสียเปรียบไม่อาจต่อสู้ขัดขืนจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของตนได้ ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก อันเป็นความผิดที่รวมการกระทำตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ด้วยแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามความผิดที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 91 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีควมผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 8 ปี ฐานให้ที่พักพิงคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นจากการจับกุม จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี คงจำคุก 5 ปี 4 เดือน ฐานให้ที่พักพิงคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นการจับกุม คงจำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 5 ปี 12 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก ฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุก 5 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานให้ที่พักพิงคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นจากการจับกุมแล้ว คงจำคุก 3 ปี 12 เดือน ยกฟ้องฐานะกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อเท็จจริงข้อแรกมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อจำเลยทราบว่า ผู้เสียหายตั้งครรภ์ได้ประมาณ 2 เดือน ก็ไม่ได้กระทำชำเราผู้เสียหายอีก แต่ผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ยืนยันว่า ผู้เสียหายตั้งครรภ์มาแล้วประมาณ 15 สัปดาห์ซึ่งนานกว่า 3 เดือน ผู้เสียหายตั้งครรภ์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเกินกว่า 3 เดือน นับแต่ที่รู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า ที่ผู้เสียหายเบิกความว่าตนเองตั้งครรภ์เมื่อใดนั้นเป็นเพียงกะประมาณเองเท่านั้นจะฟังแน่นอนยังไม่ได้เพราะผู้เสียหายไม่ใช่แพทย์ประกอบกับข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำเบิกความของผู้เสียหายซึ่งมีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546 เป็นการร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาข้อต่อมามีว่า ผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยกระทำชำเราหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในบ้านของจำเลย ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุถูกจำเลยข่มขู่ว่าหากไม่ยิมยอมให้จำเลยกระทำชำเราจะส่งตัวผู้เสียหายให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง จึงเห็นได้ว่าเหตุการณ์ในขณะนั้นผู้เสียหายอยู่ในภาวะเสียเปรียบไม่อาจต่อสู้ขัดขืนจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของตนได้ จึงต้องจำยอมให้จำเลยกระทำชำเราตามที่ต้องการ ที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายยินยอมให้กระทำชำเราตนเองจึงไม่ต้องรับผิด และหลังเกิดเหตุผู้เสียหายเรียกเงินจากจำเลย 200,000 บาท เพื่อยุติคดีนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ เพื่อให้ตนเองพ้นความรับผิดเท่านั้น ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
ปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก แต่ศาลอุทธรณ์กลับพิพากษาให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก จึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า แม้ความผิดที่โจทก์ฟ้องจะขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก โดยอ้างว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายอายุ 14 ปีเศษ ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยโดยใช้กำลังประทุษร้าย และผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก อันเป็นความผิดที่รวมการกระทำตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ด้วยแล้วศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามความผิดที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ได้ หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษตามที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share