คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกฯ (พ.ศ.2526) มิได้บัญญัติเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษ กรณีจึงต้องเป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 (2) คือ เงินค่าทดแทนจะต้องกำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาของทรัพย์สินตามธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ พ.ร.ฎ. กำหนดแนวทางที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงบางซื่อ – แขวงลาดยาว พ.ศ.2517 ใช้บังคับ คือ วันที่ 29 พฤษภาคม 2517แต่โจทก์มิได้นำสืบว่าในวันเวลาดังกล่าวที่ดินของโจทก์มีราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดจำนวนเท่าใด ที่ดินของโจทก์ทั้งแปลงมีเนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวาโจทก์ซื้อมาตั้งแต่ พ.ศ.2521 ในราคา 11 ล้านบาทเศษ ถูกเวนคืนเพียง 3 ไร่2 งาน 48 ตารางวา การที่จำเลยนำบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งมีผลใช้บังคับใน พ.ศ.2524 มาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 8,140,337 บาท อันเป็นจำนวนเงินที่ใกล้เคียงกับราคาที่ดินทั้งแปลงที่โจทก์ซื้อมา จำนวนเงินค่าทดแทนดังกล่าวจึงน่าจะไม่ต่ำกว่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ พ.ร.ฎ.ดังกล่าวใช้บังคับ ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดจึงชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว
การปรับปรุงที่ดิน การทำถนนและอาคารโครงเหล็กตามที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนล้วนแล้วแต่ได้กระทำขึ้นภายหลังวันที่ พ.ร.ฎ.กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงบางซื่อ – แขวงลาดยาว พ.ศ.2517 ใช้บังคับ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์การที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำถนนจากกรมทางหลวงก็ดี และได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ก็ดี ผู้ออกใบอนุญาตเช่นว่านั้น หาได้กระทำไปในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าวตามเงื่อนไขที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 74 (2)กำหนดไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว

Share