คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยใช้มีดปังตอฟันโจทก์ร่วมที่ 1 ถูกที่หน้าผากด้านขวาได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยจะฟันซ้ำ โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยาของโจทก์ร่วมที่ 1 วิ่งเข้ามาขวางไว้ จึงถูกจำเลยฟันที่ศีรษะจำเลยจะฟันซ้ำ โจทก์ร่วมที่ 2 ยกมือขึ้นรับจึงถูกฟันที่นิ้วมือเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยกระทำโดยบันดาลโทสะ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และมาตรา 297 ประกอบด้วยมาตรา 72 แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 ประกอบด้วยมาตรา 72 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362,364, 365, 297, 295 และริบของกลาง จำเลยให้การปฏิเสธ นายบุญมีสิมมี และนางเชือน สิมมี ผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 ประกอบด้วยมาตรา 72จำคุก 2 เดือน ของกลางริบ คำขออื่นให้ยก โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นพิเคราะห์เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลฎีกาและอนุญาตให้ฎีกาได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยใช้มีดปังตอฟันทำร้ายโจทก์ร่วมทั้งสองตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาหรือไม่ หากฟังว่าจำเลยกระทำดังกล่าวจริง ข้อเท็จจริงก็ฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยกระทำไปโดยบันดาลโทสะตามที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมาเพราะโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกาคัดค้านในข้อนี้ ในปัญหาดังกล่าวโจทก์มีตัวโจทก์ร่วมทั้งสองมาเบิกความยืนยันว่า จำเลยใช้มีดปังตอของกลางฟันโจทก์ร่วมที่ 1 ถูกที่หน้าผาก จำเลยจะเข้าฟันซ้ำ โจทก์ร่วมที่ 2 เข้าไปขวางไว้ โจทก์ร่วมที่ 2 จึงถูกจำเลยฟันที่ศีรษะ จำเลยฟันซ้ำ โจทก์ร่วมที่ 2 เอามือรับไว้จึงถูกฟันที่นิ้วมือ นอกจากนี้ยังได้ความจากนายฉอ้อน คุ้มภัย พยานโจทก์อีกปากหนึ่งว่า พยานได้เห็นชายคนหนึ่งใช้มีดฟันโจทก์ร่วมทั้งสองในขณะเกิดเหตุด้วย เพียงแต่พยานปากนี้ไม่แน่ใจว่าคนที่ใช้มีดฟันโจทก์ร่วมทั้งสองคือจำเลยหรือไม่เท่านั้น สำหรับนายสุชาติ สิมมีบุตรชายโจทก์ร่วมทั้งสองมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าพยานเห็นเหตุการณ์ตอนที่จำเลยกำลังใช้มีดฟันศีรษะโจทก์ร่วมที่ 2 จำเลยฟันซ้ำโจทก์ร่วมที่ 2 เอามือรับมีดหลุดจากมือ ตามคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจณรงค์ สุวรรณเขตร์ และจ่าสิบตำรวจสาโรจน์ กลิ่นช้างพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้จับกุมจำเลยได้ความว่าเมื่อพยานทั้งสองไปถึงที่เกิดเหตุ โจทก์ร่วมที่ 2 นำมีดปังตอของกลางมามอบให้พยานแล้วระบุว่าจำเลยเป็นผู้ใช้มีดดังกล่าวฟันโจทก์ร่วมทั้งสอง ตามรายงานความเห็นการตรวจชันสูตรบาดแผลของโจทก์ร่วมทั้งสอง เอกสารหมายจ.4 และ จ.6 นั้น ปรากฏว่าโจทก์ร่วมที่ 1 มีบาดแผลที่หน้าผากแถบขวายาว 5 เซนติเมตร โลหิตไหล กะโหลกแตกร้าว ส่วนโจทก์ร่วมที่ 2 มีบาดแผลที่ศีรษะด้านข้างแถบซ้ายยาว 2 เซนติเมตร โลหิตไหลและที่ระหว่างนิ้วนางกับนิ้วก้อยมือซ้ายยาว 4 เซนติเมตร โลหิตไหลสันนิษฐานว่าถูกของแข็งมีคม สำหรับโจทก์ร่วมที่ 1 จะต้องรักษาตัว30 วัน โจทก์ร่วมที่ 2 จะต้องรักษาตัว 8 วัน นายแพทย์มานิตย์ศรีปราโมทย์ ผู้รักษาบาดแผลของโจทก์ร่วมทั้งสองก็มาเบิกความรับรองรายงานดังกล่าว และยังเบิกความว่าจนกระทั่ง วันที่ 24ตุลาคม 2526 ซึ่งเป็นเวลาหลังเกิดเหตุถึงเกือบ 4 เดือน บาดแผลของโจทก์ร่วมที่ 1 ก็ยังไม่หายดีเกิดการอักเสบโจทก์ร่วมที่ 1 ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอีก 4 วัน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้ใช้มีดปังตอฟันทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับบาดเจ็บสาหัสและโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้สำหรับโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะกำหนดโทษให้เบาลงหรือรอการลงโทษให้จำเลยตามที่จำเลยฎีกา แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 ประกอบด้วยมาตรา 72 โดยไม่ระบุว่าให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297ประกอบด้วยมาตรา 72 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ชัดเจน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 297 ประกอบด้วยมาตรา 72 แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 ประกอบด้วยมาตรา 72 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share