คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10561/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 3 ให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรผู้ทำการแทนกรมศุลกากรออกข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินการของกรมศุลกากรเป็นไปโดยเรียบร้อยตามหน้าที่ รวมทั้งอำนาจยึดทรัพย์สินอันพึงริบตามมาตรา 24 แต่บทกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้บัญญัติว่าการกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้เฉพาะกรมศุลกากรโดยอธิบดีกรมศุลกากรเท่านั้น ที่มีอำนาจดำเนินการแก่ผู้กระทำผิดหรือมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิด โดยหากไม่มีการร้องทุกข์แล้วเจ้าพนักงานตำรวจจะไม่มีอำนาจดำเนินการสอบสวนในความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนคดีในความผิดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าวได้เช่นเดียวกับคดีอาญาแผ่นดินทั่วไป เมื่อความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม หรือข้อจำกัดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ดังนั้น เมื่อมีการกระทำผิดเกิดขึ้นและเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ ย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิด และพนักงานสอบสวนย่อมทำการสอบสวนเอาความผิดแก่ผู้กระทำผิดอาญาทั้งปวง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 17 และมาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 121 ได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าอธิบดีกรมศุลกากรจะได้มอบหมายให้ผู้ใดแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อดำเนินการเอาผิดแก่จำเลยหรือไม่ การสอบสวนของพนักงานสอบสวนกระทำโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒ , ๒๗ ทวิ , ๑๐๐ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ , ๘๓ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๔ , ๕ , ๖ , ๗ , ๘ , ๙ ริบของกลางและจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ทวิ ให้ปรับ ๒,๖๕๐,๔๓๘.๗๒ บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนไม่เกินสองปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ , ๓๐ ริบรถยนต์ของกลาง กับให้จ่ายสินบนร้อยละ ๓๐ ของราคาของกลางแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลร้อยละ ๒๕ ของราคาของกลางแก่เจ้าพนักงานจับกุม ในกรณีที่ไม่อาจขายของกลางได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๗ , ๘
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ กำหนดให้กรมศุลกากรโดยอธิบดีกรมศุลกากรเป็นผู้มีอำนาจตรวจยึดรถยนต์ที่ผ่านเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้ชำระค่าภาษีอากรขาเข้า รวมถึงแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย และรับไว้ซึ่งรถยนต์ดังกล่าวด้วย เจ้าพนักงานตำรวจไม่มีอำนาจ เมื่ออธิบดีกรมศุลกากรมิได้มอบหมายให้ผู้ใดไปแจ้งความร้องทุกข์ – ดำเนินคดีแก่จำเลย การสอบสวนของพนักงานสอบสวนในคดีนี้จึงมิชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าแม้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๓ จะให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรผู้ทำการแทนกรมศุลกากรออกข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินการของกรมศุลกากรเป็นไปโดยเรียบร้อยตามหน้าที่ รวมทั้งให้อำนาจยึดทรัพย์สินอันพึงริบตามมาตรา ๒๔ ได้ก็ตาม แต่บทกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เฉพาะกรมศุลกากรโดยอธิบดีกรมศุลกากรเท่านั้นที่มีอำนาจดำเนินการแก่ผู้กระทำผิด หรือมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิด โดยหากไม่มีการร้องทุกข์แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจจะไม่มีอำนาจดำเนินการสอบสวนในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ นี้ ฉะนั้น พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนคดีในความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้เช่นเดียวกันกับคดีอาญาแผ่นดินทั่วไป เมื่อความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม หรือข้อจำกัด ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ทวิ เป็นความผิดอาญาแผ่นดินซึ่งเมื่อได้เกิดหรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดและก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ ย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าพนักงานตำรวจที่มีอำนาจสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อเอาความผิดแก่ผู้กระทำความผิดอาญาทั้งปวง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๘ ประกอบด้วยมาตรา ๑๒๑ วรรคหนึ่ง ตามลำดับ โดยไม่คำนึงว่าอธิบดีกรมศุลกากรจะได้มอบหมายให้ผู้ใดไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์เอาผิดแก่จำเลยดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเป็นการกระทำโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share