คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6394/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในสถานประกอบกิจการของผู้ร้องมีปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างกับสหภาพแรงงานแอมพาส ฯ ที่ตกลงกันไม่ได้ มีการเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานและกรรมการสหภาพแรงงานหลายคนโดยไม่จ่ายค่าชดเชย รวมทั้งผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดก็อยู่ระหว่างถูกผู้ร้องขออนุญาตศาลเลิกจ้าง ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ผู้คัดค้านกับพวกจึงร่วมกันออกแถลงการณ์ส่งไปขอความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงานอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน แม้ข้อความบางตอนในคำแถลงการณ์จะกล่าวหาว่าผู้ร้องเข้าแทรกแซงการทำงานและต้องการล้มสหภาพแรงงานแอมพาส ฯ แต่ก็เป็นการกล่าวในฐานะที่ผู้คัดค้านเป็นผู้สังกัดอยู่ในสหภาพแรงงานดังกล่าว โดยผู้คัดค้านที่ 1 เป็นประธานสหภาพแรงงาน และกำลังถูกผู้ร้องดำเนินการขอเลิกจ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ร้องได้เลิกจ้างกรรมการสหภาพไปหลายคนแล้ว หากไม่มีกรรมการ สหภาพแรงงานก็อยู่ไม่ได้ ถือได้ว่าการกระทำของผู้คัดค้านเป็นการกล่าวหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทผู้ร้อง แต่ข้อความที่กล่าวพาดพิงถึงคุณภาพสินค้าที่ผู้ร้องผลิตว่าขาดคุณภาพ ขอให้สหภาพแรงงานอื่นตรวจสอบและช่วยกดดันผู้ร้อง เป็นเจตนาที่มุ่งหวังผลจะทำลายชื่อเสียงหรือเกียรติคุณในทางการค้าของผู้ร้อง เพื่อเป็นข้อต่อรองกดดันให้ผู้ร้องยอมปฏิบัติตามความประสงค์ของผู้คัดค้าน เป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ผู้ร้องจึงมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้

ย่อยาว

คดีทั้งสิบเอ็ดสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกผู้คัดค้านว่าผู้คัดค้านที่ ๑ ถึงที่ ๑๑ ตามลำดับ
ผู้ร้องทั้งสิบเอ็ดสำนวนยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้อง ขอให้อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดโดยให้มีผลตั้งแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไป
ผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องและมีคำสั่งให้ผู้ร้องรับผู้คัดค้านทั้งหมดกลับเข้าทำงานต่อไป
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดได้กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของผู้ร้องจริง แต่ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรง จึงพิพากษาให้ลงโทษผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดโดยตักเตือนเป็นหนังสือและพักงานคนละ ๑๕ วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้าง คำขออื่นให้ยก
ผู้ร้องทั้งสิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้ร่วมกับลูกจ้างแจ้งข้อเรียกร้องขอแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแก่ผู้ร้อง แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ต่อมาผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดได้ออกคำแถลงการณ์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า การที่ผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดออกคำแถลงการณ์นั้น เป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า คำแถลงการณ์มีข้อความว่า “นับตั้งแต่ที่พนักงานของบริษัทแอมพาสอินดัสตรี จำกัด บางส่วนได้รวมตัวกันก่อตั้งสหภาพแรงงานแอมพาสแห่งประเทศไทย คณะกรรมการบริหารสหภาพ ฯ ไม่สามารถที่จะดำเนินการบริหารได้ด้วยดี เพราะได้รับการแทรกแซงและขัดขวางการทำงานจากบริษัท ฯ โดยที่บริษัท ฯ ได้จ้างอดีตผู้นำแรงงานมาทำหน้าที่แรงงานสัมพันธ์ แต่พฤติกรรมของบุคคลผู้นี้ไม่ได้ทำหน้าที่แรงงานสัมพันธ์ที่ดีเลย แต่มาเพื่อที่จะเอาประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้นำแรงงานมาทำลายองค์กรของผู้ใช้แรงงานด้วยกัน ซึ่งพิสูจน์ได้จากเหตุการณ์ที่คณะกรรมการสหภาพแรงงานแอมพาส ฯ พร้อมทั้งสมาชิก ๑๙ คน ได้ถูกฝ่ายบริหารของบริษัท ฯ เรียกเข้าพบโดยผู้บริหารแจ้งว่าบริษัท ฯ ไม่สามารถยอมรับองค์กรสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างก่อตั้งขึ้นมาให้ดำเนินการต่อไปได้ บริษัท ฯ ได้พยายามต่อรองกับคณะกรรมการสหภาพแรงงานแอมพาส ฯ เพื่อที่จะล้มสหภาพแรงงาน แต่คณะกรรมการสหภาพแรงงานและสมาชิกทุกคนยืนยันที่จะมีองค์กรของลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานต่อไป ทำให้ฝ่ายบริหารไม่พอใจในคำตอบ จึงมีคำสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวแก่พนักงานทั้ง ๑๙ คน และทางบริษัท ฯ ยังได้มีคำสั่งเลิกจ้างกรรมการสหภาพ ฯ อนุกรรมการและสมชิก ฯ ๘ คน โดยไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น พร้อมทั้งขออนุญาตต่อศาลเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง ๑๑ คน ขณะนี้สมาชิกสหภาพ ฯ ส่วนหนึ่งถูกกดดันภายในบริษัท ฯ และกลั่นแกล้งสมาชิกทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ที่เคยทำอยู่ โดยบริษัท ฯ อ้างว่าสหภาพ ฯ ทำให้บริษัท ฯ เสียหาย และทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อบริษัท ฯ จากเหตุการณ์นี้ทำให้พนักงานที่ปฏิบัติงานไม่มีขวัญกำลังใจในการทำงาน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้าที่ส่งไปยังบริษัทของท่านไม่มีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดเนื่องจากบริษัทแอมพาส ฯ ได้รับพนักงานรับเหมาช่วง (Subcontract) เข้ามาปฏิบัติงานภายในบริษัท ฯ ซึ่งไม่มีความชำนาญ ก่อให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพ สหภาพแรงงานแอมพาส ฯ จึงอยากให้บริษัท ฯ ของท่านตรวจสอบคุณภาพของสินค้าที่ทางบริษัทแอมพาส ฯ จัดส่งไปด้วย เพราะบริษัท ฯ อาจส่งสินค้าที่ขาดคุณภาพหรือมีคุณภาพไม่ตรงตามที่ท่านต้องการให้แก่บริษัทของท่าน และสหภาพแรงงานแอมพาส ฯ ใคร่ขอความช่วยเหลือให้ทางสหภาพ ฯ ของท่านช่วยดำเนินการกดดันบริษัทแอมพาส ฯ เพราะตอนนี้เพื่อนผู้ใช้แรงงานของท่านโดนกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยไม่ให้กลับเข้าทำงาน” และข้อความตอนท้ายระบุว่า “ทางสหภาพแรงงานแอมพาส ฯ หวังว่าคงได้รับความช่วยเหลือจากท่านเพื่อให้บริษัทแอมพาส ฯ ได้รับรู้ถึงการกระทำและเลิกแทรกแซงการกระทำของสหภาพแรงงานแอมพาส ฯ พร้อมทั้งรับพนักงานทั้งหมดที่โดนพักงานและโดนเลิกจ้างทุกคนกลับเข้าทำงานเหมือนเดิม” ซึ่งแปลความได้ว่า ขณะออกคำแถลงการณ์นั้น ในสถานประกอบกิจการของผู้ร้องมีปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างผู้ร้องกับสหภาพแรงงานแอมพาส ฯ ที่ตกลงกันไม่ได้ มีการเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานและกรรมการสหภาพแรงงานหลายคนโดยไม่จ่ายค่าชดเชย รวมทั้งผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดก็อยู่ระหว่างถูกผู้ร้องขออนุญาตศาลเลิกจ้างทำให้ได้รับความเดือดร้อน ผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดกับพวกจึงร่วมกันออกคำแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวส่งไปขอความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงานอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังเหตุผลที่ศาลแรรงานกลางวินิจฉัยมา แม้มีข้อความบางตอนกล่าวหาผู้ร้องว่าเข้าแทรกแซงการทำงาน และต้องการจะล้มล้างสหภาพแรงงานแอมพาส ฯ อยู่ด้วย แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่า ผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดกล่าวในฐานะที่เป็นผู้สังกัดอยู่ในสหภาพแรงงานดังกล่าว โดยผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นประธานสหภาพแรงงาน ฯ และกำลังถูกผู้ร้องดำเนินการขอเลิกจ้าง ทั้งก่อนหน้านี้ผู้ร้องได้เลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานไปแล้วหลายคน ซึ่งหากไม่มีกรรมการดังกล่าว สหภาพแรงงานอันเป็นองค์กรของลูกจ้างก็ดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้ จึงพอถือได้ว่าเป็นการกล่าวหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๑) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ในส่วนข้อความที่กล่าวพาดพิงถึงคุณภาพสินค้าที่ผู้ร้องผลิตว่าขาดคุณภาพ ขอให้สหภาพแรงงานอื่นตรวจสอบคุณภาพของสินค้าและขอให้ช่วยกดดันผู้ร้องนั้น เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้ว จะเห็นเจตนาของผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดได้ว่ามุ่งหวังผลที่จะทำลายชื่อเสียงหรือเกียรติคุณในทางการค้าของผู้ร้องเพื่อเป็นข้อต่อรองกดดันให้ผู้ร้องจำยอมปฏิบัติตามความประสงค์ของตนอันเป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ผู้ร้องจึงมีสิทธิเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดได้ ดังนั้น แม้กรณีจะยังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาหมิ่นประมาทนายจ้าง แต่การที่ผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย จึงมีเหตุอันสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดได้ อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้นบางส่วน ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของผู้ร้องไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดได้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง.

Share