คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7852/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 จงใจทุจริตยักยอกเงินค่าภาษีและค่าธรรมเนียมรถจักรยานยนต์ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการส่วนจำเลยที่ 5 จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำการฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งที่โจทก์วางไว้ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ แม้จะได้ความว่ายอดเงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกจะมาจากใบเสร็จรับเงินต่างเล่มและคนละเลขที่กัน ทั้งการตรวจพบการกระทำทุจริตยักยอกจะเป็นคนละครั้งก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 5กระทำละเมิดต่อโจทก์ในระยะวันเวลาเดียวกันที่โจทก์ได้ฟ้องคดีก่อนไว้แล้ว ฟ้องของโจทก์คดีนี้ย่อมเป็นเรื่องเดียวกับที่โจทก์ฟ้องในคดีดังกล่าว ซึ่งโจทก์ชอบที่จะแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ เพราะเป็นการขอเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ในฟ้องเดิมที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและมีความเกี่ยวข้องกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 179,180 การที่โจทก์กลับมาฟ้องเป็นคดีนี้อีกจึงเป็นการฟ้องเรื่องเดียวกัน ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 173 วรรคสอง (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ปฏิบัติงานที่แผนกทะเบียนรถยนต์ กองกำกับการ 3 กองทะเบียนกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อันเป็นหน่วยงานของโจทก์ เมื่อระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม 2528 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2528จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่รับเงินค่าภาษีและค่าธรรมเนียมรถจักรยานยนต์ มีหน้าที่รับเงินค่าภาษีและค่าธรรมเนียมรถจักรยานยนต์จากเจ้าของรถจักรยานยนต์ที่นำมาชำระแล้วนำส่งฝากเก็บในตู้นิรภัยเพื่อจัดส่งเป็นรายได้แผ่นดินจำเลยที่ 1 ได้ละเว้นไม่ลงบัญชีควบคุมการรับเงินและไม่นำเงินดังกล่าวส่งเป็นรายได้แผ่นดินในนามของโจทก์ โดยได้จงใจยักยอกเอาเงินค่าธรรมเนียมรถจักรยานยนต์ไปเป็นประโยชน์ของตน รวม3,104 ครั้ง เป็นเงิน 336,580 บาท และในระหว่างวันที่29 พฤษภาคม 2528 ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2528 จำเลยที่ 1ได้ละเว้นไม่ลงบัญชีควบคุมการรับเงินและไม่นำส่งเงินเป็นรายได้แผ่นดิน โดยจงใจยักยอกเอาเงินค่าภาษีรถจักรยานยนต์ไปรวม 368 ครั้ง เป็นเงิน 39,440 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น376,020 บาท ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม 2528 ถึงวันที่31 พฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าหมวดที่ 11ช่องทำการที่ 16 และจำเลยที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันรับผิดชอบงานการเงินและควบคุมบังคับบัญชาการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่ง แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งที่โจทก์วางไว้ละเลยไม่ตรวจสอบการรับเงินและการส่งเงินไม่ตรวจสอบการเบิกและใช้ใบเสร็จรับเงิน ไม่ตรวจสอบยอดเงินในต้นขั้วใบเสร็จรับเงินและใบเสร็จรับเงินกับยอดเงินในรายการยอดเงินประจำวันให้ถูกต้องตรงกับที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไว้จริงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 รับเงินค่าธรรมเนียมรถจักรยานยนต์87,980 บาท และค่าภาษีรถจักรยานยนต์ 7,900 บาท รวมเป็นเงิน95,880 บาท ไว้แล้วเบียดบังยักยอกเอาเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ไม่นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินในนามของโจทก์และระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2528 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2528จำเลยที่ 4 ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าหมวด จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำการฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งที่โจทก์วางไว้เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 รับเงินค่าธรรมเนียมรถจักรยานยนต์248,600 บาท และค่าภาษีรถจักรยานยนต์ 31,540 บาท รวมเป็นเงิน 280,140 บาท ไว้แล้วยักยอกเอาเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนไม่นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินในนามของโจทก์และระหว่างวันที่21 พฤษภาคม 2528 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2528 จำเลยที่ 5 ซึ่งดำรงตำแหน่งสารวัตรแผนกทะเบียนรถยนต์ มีหน้าที่สอดส่องดูแล ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในแผนกทะเบียนรถยนต์ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับคำสั่ง และให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายแต่จำเลยที่ 5 จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ และคำสั่งที่โจทก์วางไว้โดยละเลยไม่ตรวจสอบการรับเงินและการส่งเงิน ไม่ตรวจสอบการเบิกและการใช้ใบเสร็จรับเงินไม่ตรวจสอบยอดเงินในใบเสร็จรับเงิน ต้นขั้วใบเสร็จรับเงินให้ตรงกับยอดเงินในรายการยอดเงินประจำวัน ยอดเงินในสมุดควบคุมรายการรับเงินของหมวดและยอดเงินในบัญชีรายวันรับเงินรายได้ของแผ่นดินของแผนกทะเบียนรถยนต์ให้ถูกต้องตรงกับที่จำเลยที่ 1 รับเงินไว้จริงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 รับเงินค่าธรรมเนียมและรถจักรยานยนต์ 336,580 บาท และค่าภาษีรถจักรยานยนต์ 39,440 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 376,020 บาทไว้ แล้วทุจริตยักยอกเอาเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนไม่นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินในนามของโจทก์การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 95,880 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที 5 ร่วมกันชำระเงิน 280,140 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในเงินเพียง75,090 บาท เท่านั้น ส่วนเงินค่าธรรมเนียมที่โจทก์ฟ้องเกินไป20,790 บาท นั้น อยู่ในความรับผิดของจำเลยที่ 4 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 3370/2531 หมายเลขแดงที่ 15219/2533 และคดีหมายเลขดำที่ 10214/2533 ของศาลชั้นต้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 75,210 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ยกฟ้องจำเลยที่ 4
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ประจำหมวดที่ 11 ช่องทำการที่ 16 มีหน้าที่รับชำระเงินค่าภาษีและค่าธรรมเนียมรถจักรยานยนต์ หมวดอักษร 1 จ ถึง 9 จ และ 1 ฉ ถึง 9 ฉจำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งให้มาช่วยราชการในแผนกทะเบียนรถยนต์ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าหมวดที่ 11 ช่องทำการที่ 16 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วยของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ปฏิบัติราชการในแผนกทะเบียนรถยนต์จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2528 แล้วย้ายไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งอื่น จำเลยที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าหมวดที่ 11 ช่องทำการที่ 16 ต่อจากจำเลยที่ 2จำเลยที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสารวัตรแผนกทะเบียนรถยนต์สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบว่า ในระหว่างวันที่21 พฤษภาคม 2528 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2528 จำเลยที่ 1 ได้ยักยอกเงินค่าภาษีและค่าธรรมเนียมรถจักรยานยนต์ไป ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันรับผิดในกรณีที่จำเลยที่ 1ทุจริตยักยอกเงินค่าภาษีและค่าธรรมเนียมรถจักรยานยนต์ ระหว่างวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2528 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2528 จำนวนเงิน148,009.99 บาท และระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน 2528 ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2528 จำนวนเงิน 333,510 บาท ตามคดีหมายเลขดำที่3370/2531 หมายเลขแดงที่ 15219/2533 ของศาลชั้นต้น และโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันรับผิดในกรณีที่จำเลยที่ 1ทุจริตยักยอกเงินค่าภาษีและค่าธรรมเนียมรถจักรยานยนต์ ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2528 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2528 จำนวนเงิน275,980 บาท ตามคดีหมายเลขดำที่ 10214/2533 ของศาลชั้นต้นส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันรับผิดในกรณีที่จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินค่าภาษีและค่าธรรมเนียมรถจักรยานยนต์ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2528 ถึงวันที่26 สิงหาคม 2528 จำนวนเงิน 376,020 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 75,210 บาทที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไประหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม 2528 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2528 ส่วนเงินจำนวน 300,810 บาท ที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไประหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2528 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2528 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้ซ้อนกับฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 3370/2531 หมายเลขแดงที่ 15219/2533และคดีหมายเลขดำที่ 10214/2533 ของศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการยักยอกเงินระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2528 ถึงวันที่26 สิงหาคม 2528 นั้น ซ้อนกับฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 3370/2531หมายเลขแดงที่ 15219/2533 และคดีหมายเลขดำที่ 10214/2533ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 จงใจทุจริตยักยอกเงินค่าภาษีและค่าธรรมเนียมรถจักรยานยนต์ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ส่วนจำเลยที่ 5 จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำการฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งที่โจทก์วางไว้ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ แม้จะได้ความว่ายอดเงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกจะมาจากใบเสร็จรับเงินต่างเล่มและคนละเลขที่กัน ทั้งการตรวจพบการกระทำทุจริตยักยอกจะเป็นคนละครั้งก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 กระทำละเมิดต่อโจทก์ในระยะวันเวลาเดียวกันที่โจทก์ได้ฟ้องไว้แล้วฟ้องของโจทก์คดีนี้ย่อมเป็นเรื่องเดียวกับที่โจทก์ฟ้องในคดีดังกล่าว ซึ่งโจทก์ชอบที่จะแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ เพราะเป็นการขอเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ในฟ้องเดิมที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาและมีความเกี่ยวข้องกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 179, 180 การที่โจทก์กลับมาฟ้องเป็นคดีใหม่จึงเป็นการฟ้องเรื่องเดียวกัน ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1)
พิพากษายืน

Share