คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7851/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ได้บรรยายถึงเนื้อหาแห่งคำฟ้องคำให้การของจำเลย คำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้ง และเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 246 โจทก์หาจำต้องระบุทางนำสืบของคู่ความแต่ละฝ่ายมาในคำฟ้องอุทธรณ์ด้วยไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์เพิ่มอีก 7,400 บาท เป็นการไม่ชอบ เพราะโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายนั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาว่าเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยมิได้คืนรถยนต์ให้โจทก์โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเป็นจำนวนไม่เกินสองแสนบาท จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ หมายเลขทะเบียน7ค-8419 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 178,836 บาท ตกลงฝ่อนชำระเป็น 42 งวด งวดละ 4,258 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2533 งวดต่อไปทุกวันที่ 20 ของเดือนจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่ งวดที่ 13เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โจทก์ติดตามยึดรถยนต์คืนนำออกขายได้เงิน70,000 บาท ไม่คุ้มราคาเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อ โดยยังขาดราคาอยู่เป็นเงิน 57,740 บาท โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์วันละ 500 บาท เป็นเวลา 122 วันเป็นเงิน 61,000 บาท และโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการยึดรถยนต์1,500 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 120,240 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 120,240 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่ผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ 1 มิได้ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมานั้นสูงเกินควร ค่าติดตามรถยนต์1,500 บาท ชำระให้โจทก์แล้ว และคดีโจทก์เป็นอันขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน19,800 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินเพิ่มอีก 7,400 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อแรกว่า ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้ระบุทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะไม่รับวินิจฉัยนั้นข้อฏีกาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และจำเลยที่ 1 ได้ยกข้อดังกล่าวขึ้นอ้างไว้ในคำแก้อุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะมิได้วินิจฉัยให้ ก็ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ เห็นว่า ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ได้บรรยายถึงเนื้อหาแห่งคำฟ้อง คำให้การของจำเลยที่ 1 คำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้ง และเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 246 โจทก์หาจำต้องระบุทางนำสืบของคู่ความแต่ละฝ่ายมาในคำฟ้องอุทธรณ์ด้วยไม่
จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์เพิ่มอีก 7,400 บาท เป็นการไม่ชอบ เพราะโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายนั้นเห็นว่า ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาว่าเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1มิได้คืนรถยนต์ให้โจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเป็นจำนวนไม่เกินสองแสนบาท ฎีกาข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share