คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7850/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า แต่เอกสารท้ายฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่อจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าที่โจทก์แนบมาท้ายคำฟ้อง ถือว่าจำเลยยอมรับว่ามีข้อตกลงตามบันทึกดังกล่าวเกี่ยวกับบ้านพิพาท ดังนั้น การที่จำเลยให้การและนำสืบว่าปัจจุบันบ้านพิพาทมิใช่สินสมรสที่โจทก์จะมาฟ้องขอแบ่งจากจำเลยได้เพราะโจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าไว้ว่าให้ตกเป็นของจำเลย ประเด็นข้อพิพาทจึงมีอยู่ว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามข้อนำสืบของจำเลย แล้ววินิจฉัยไว้ในคำพิพากษา ในส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวด้วย เพราะเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามประเด็นข้อพิพาทและข้อนำสืบในส่วนนี้ของจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคู่ความสืบพยานมาจนสิ้นกระแสความและคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเพื่อมิให้คดีล่าช้า จึงเห็นสมควรวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ โดยไม่ย้อนสำนวน เมื่อโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงแบ่งบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสแล้วโดยให้บ้านพิพาทตกเป็นของจำเลย ดังนั้น ในขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้บ้านพิพาทจึงมิใช่สินสมรสที่โจทก์จะมาฟ้องขอแบ่งจากจำเลยได้อีก
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย แต่ให้นำหนี้ร่วมจำนวน 1,700,000 บาท มาหักออกจากราคาบ้านพิพาทก่อนแล้วจึงนำบ้านพิพาทมาแบ่งกัน โจทก์ฎีกาว่าไม่ต้องร่วมรับผิดในเงินจำนวน 1,700,000 บาท ดังนี้ ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของโจทก์จึงมีเพียง 1,700,000 บาท ซึ่งโจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 34,000 บาท ที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาของทุนทรัพย์ 8,500,000 บาท เป็นเงิน 170,000 บาท จึงเป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินมา เห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกิน 34,000 บาท แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งสินสมรสคือบ้านเลขที่ 83/2 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งหรือให้ใช้ราคาเป็นเงิน 8,500,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า บ้านเดี่ยวสองชั้น เลขที่ 83/2 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลย ให้แบ่งบ้านพิพาทให้โจทก์และจำเลยได้ส่วนเท่ากัน โดยให้แบ่งกันระหว่างโจทก์กับจำเลย ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนัก ก็ให้ขายบ้านพิพาทโดยวิธีประมูลราคากันระหว่างโจทก์กับจำเลย ถ้าตกลงกันไม่ได้ ให้นำบ้านพิพาทออกขายทอดตลาดเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำหนี้ร่วมจำนวน 1,700,000 บาท มาหักออกจากราคาบ้านพิพาทก่อนแล้วจึงนำบ้านพิพาทมาแบ่งกัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากัน โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2547 และมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กหญิงสุชญา ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2548 ปรากฏตามสำเนา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 นายคารวุฒิ บิดาของจำเลย ได้ให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวม โดยไม่มีค่าตอบแทนในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 17462 และ 17463 อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่ 192 ส่วนในจำนวน 320 ส่วน และ 168 ส่วนในจำนวน 280 ส่วน ตามลำดับ วันที่ 5 กรกฎาคม 2550 โจทก์และจำเลยกู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาพิษณุโลก จำนวน 2,006,000 บาท ต่อมาวันที่ 14 มีนาคม 2551 จำเลยได้กู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสุโขทัย จำนวน 1,000,000 บาท โดยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 17462 และ 17463 อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นของจำเลยและนายคารวุฒิ เป็นหลักประกันโดยมีข้อตกลงว่า จำเลยยินยอมให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยเพื่อชำระหนี้ธนาคาร ปรากฏตามต้นฉบับสัญญากู้เงิน ข้อตกลงต่อท้ายสัญญากู้เงิน หนังสือยินยอมให้หักบัญชีเงินฝาก สัญญากู้เงินสัญญาค้ำประกัน และสำเนาโฉนดที่ดิน วันที่ 4 กรกฎาคม 2550 จำเลยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างบ้านเลขที่ 83/2 ลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 17462 และ 17463 ดังกล่าว ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2554 โจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน โดยมีข้อตกลงเกี่ยวกับอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ ทรัพย์สินและหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลย วันที่ 6 กันยายน 2555 จำเลยกู้ยืมเงินธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสิงหวัฒน์ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 จำนวนเงิน 2,100,000 บาท และครั้งที่ 2 จำนวนเงิน 1,300,000 บาท โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 17462 และ 17463 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นหลักประกัน วันที่ 7 กันยายน 2555 จำเลยได้นำเงินไปชำระหนี้ให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาพิษณุโลก รวม 2 ครั้ง จำนวนเงิน 1,588,047.22 บาท และจำนวน 479,937.77 บาท ตามลำดับ วันที่ 23 มกราคม 2557 โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันมีข้อความว่า ข้อ 1 จำเลยตกลงยกที่ดินโฉนดเลขที่ 17462 และ 17463 เฉพาะส่วนของจำเลย พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 83/3 อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ให้แก่เด็กหญิงสุชญา… ข้อ 2 จำเลยยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,360,000 บาท โดยผ่อนชำระเดือนละ 10,000 บาท… ข้อ 3 จำเลยตกลงจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงสุชญา ผู้เยาว์ เดือนละ 5,000… บาท ข้อ 4 จำเลยยินยอมและตกลงจ่ายค่าเทอมการศึกษาให้แก่เด็กหญิงสุชญา… ข้อ 5 หากจำเลยผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้บังคับคดีได้ทันที… และศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมไปแล้ว คดีถึงที่สุด
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า บ้านเลขที่ 83/2 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เป็นสินสมรสที่จำเลยต้องแบ่งให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ ในข้อนี้คู่ความต่างนำสืบรับกันว่า ในระหว่างที่โจทก์และจำเลยสมรสกันได้มีการปลูกสร้างบ้านเลขที่ 83/2 ลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 17462 และ 17463 ซึ่งปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่า บ้านเลขที่ 83/2 ดังกล่าวตั้งคร่อมอยู่บนที่ดินทั้งสองแปลงข้างต้น ซึ่งจำเลยก็มิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามข้อนำสืบในส่วนนี้ของโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่า บ้านเลขที่ 83/2 ที่พิพาทกันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย ที่จำเลยต้องแบ่งให้แก่โจทก์เมื่อหย่าขาดจากกันหากไม่มีข้อตกลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาโดยเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยขอแบ่งบ้านพิพาทกึ่งหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็นสินสมรส แต่จำเลยให้การแต่เพียงว่าบ้านพิพาทมิใช่เป็นสินสมรส โดยไม่ได้ให้การถึงว่าโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดการบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสไว้ต่อกัน ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีเพียงว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นดังกล่าวไว้แล้วในชั้นชี้สองสถาน แต่คู่ความก็มิได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลไว้แต่อย่างใด ดังนั้นการที่จำเลยนำสืบว่าก่อนโจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน โจทก์ยินยอมยกบ้านพิพาทให้แก่จำเลยโดยจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินทั้งหมดและจำเลยยินยอมให้โจทก์อยู่อาศัยในบ้านพิพาทต่อไปไม่เกิน 18 เดือน ข้อนำสืบของจำเลยจึงเป็นการนำสืบนอกประเด็น ศาลชั้นต้นจึงไม่รับวินิจฉัยและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็เห็นว่า ข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าบ้านพิพาทมิใช่สินสมรส เนื่องจากโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงกันว่าให้บ้านพิพาทตกเป็นของจำเลยนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงเป็นเรื่องนอกประเด็นซึ่งศาลชั้นต้นก็มิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไว้ ดังนั้น จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว จึงไม่รับวินิจฉัย จากข้อวินิจฉัยดังกล่าวของศาลล่างทั้งสองนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากัน โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2547 และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ระหว่างสมรสมีสินสมรสคือบ้านเลขที่ 83/2 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 17462 และ 17463 ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2554 โจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนหย่า ขอให้จำเลยแบ่งสินสมรสบ้านหลังดังกล่าวให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หรือให้ใช้เงินแทนจำนวน 8,500,000 บาท ส่วนจำเลยให้การว่า หลังจากโจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันแล้ว จำเลยได้กู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไปชำระหนี้ให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินแต่เพียงผู้เดียว ปัจจุบันบ้านพิพาทมิใช่สินสมรส ซึ่งเมื่อตรวจดูบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า มีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ การจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร และทรัพย์สินระหว่างโจทก์จำเลย โดยเฉพาะข้อตกลงเกี่ยวกับบ้านเลขที่ 83/2 ซึ่งเป็นบ้านพิพาทในคดีนี้ ซึ่งแม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าดังกล่าวไว้ในคำฟ้องของโจทก์ แต่เอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องโจทก์ เมื่อจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าดังกล่าวจึงถือว่าจำเลยยอมรับว่ามีข้อตกลงตามบันทึกนั้นเกี่ยวกับบ้านพิพาทเลขที่ 83/2 ระหว่างโจทก์และจำเลยแล้วตามที่ปรากฏในบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ดังนั้นการที่จำเลยให้การว่าปัจจุบันบ้านพิพาทมิใช่สินสมรสที่โจทก์จะมาฟ้องขอแบ่งจากจำเลยได้ แล้วนำสืบโดยจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ในวันที่ 5 สิงหาคม 2554 โจทก์และจำเลยตกลงยินยอมจดทะเบียนหย่ากัน โดยได้ทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าแนบไว้ด้วย ซึ่งในบันทึกดังกล่าวมีการแสดงเจตนาที่จะแบ่งสินสมรสกันในขณะทำบันทึกข้อตกลงท้ายการหย่าเอาไว้และทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดนอกเหนือจากที่บันทึกไว้อีก สำหรับบ้านพิพาท โจทก์และจำเลยตกลงกันมาก่อนแล้วว่าให้ตกเป็นของจำเลย โดยจำเลยจะเป็นผู้รับผิดชอบในหนี้สินทั้งหมดที่โจทก์และจำเลยร่วมกันกู้ยืมจากธนาคารแต่เพียงผู้เดียวซึ่งก็ได้มีการแสดงเจตนากันในบันทึกว่า จำเลยยินยอมให้โจทก์อยู่อาศัยในบ้านพิพาทได้อีกเพียง 18 เดือน หลังจากนั้นโจทก์ต้องขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านพิพาท ซึ่งต่อมาจำเลยก็ได้กู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) แล้วนำเงินไปชำระหนี้ทั้งหมดที่มีต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการนำสืบถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในคำให้การของจำเลยแล้วโดยเป็นการนำสืบรับว่าโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับบ้าน ตามคำฟ้องโจทก์แล้ว และเมื่อโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงกันมาแล้วเช่นนี้ บ้านพิพาทจึงไม่มีสภาพเป็นสินสมรสที่โจทก์จะมาฟ้องขอแบ่งจากจำเลยได้อีก ข้อนำสืบของจำเลยจึงอยู่ในประเด็นข้อพิพาทที่ว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามข้อนำสืบของจำเลย แล้ววินิจฉัยไว้ในคำพิพากษา ในส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็เช่นกัน ก็จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่า บ้านพิพาทมิใช่สินสมรสเพราะโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงให้บ้านพิพาทตกเป็นของจำเลยแล้ว เพราะเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามข้อนำสืบในส่วนนี้ของจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคู่ความสืบพยานมาจนสิ้นกระแสความและคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเพื่อมิให้คดีล่าช้า จึงเห็นสมควรวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ โดยไม่ย้อนสำนวน เห็นว่า ตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า มีข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินว่า โจทก์และจำเลยมีทรัพย์สินได้แก่ รถยนต์หมายเลขทะเบียน กจ 9483 พิษณุโลก จำเลยจะจ่ายค่าเช่าซื้อจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ทรัพย์สินอื่น ๆ เช่น เครื่องประดับ ทองเพชร ที่มียกให้เป็นของโจทก์ทั้งหมด มีหนี้สิน จำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์ จำนวน 1,500,000 บาท โดยจะผ่อนชำระให้เดือนละ 10,000 บาท เริ่มตั้งแต่ 30 กันยายน 2555 เป็นต้นไป และจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในปี 2565 ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 17462 และ 17463 อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก บางส่วน ตามแนวรั้วบ้านด้านทิศใต้ จำเลยแสดงเจตนายกให้เด็กหญิงสุชญา โจทก์และบุตรยังคงอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 83/2 หมู่ 3 ตำบลท่าทอง ต่อไปได้ไม่เกิน 18 เดือน นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนหย่าเป็นต้นไป เมื่อโจทก์ออกไปแล้วจะต้องนำทรัพย์สินออกไปให้เรียบร้อยภายใน 3 เดือน นับแต่วันย้ายออก หากพ้นกำหนดให้ถือว่าทรัพย์สินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ร้านกาแฟ บ้านเลขที่ 83, 83/1 โจทก์ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้ไม่เกิน 18 เดือน นับแต่วันหย่า นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงเกี่ยวกับอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์และการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ด้วย ซึ่งก็ปรากฏว่าหลังจากที่โจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ต่อมาในปี 2556 โจทก์ได้ฟ้องบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า ซึ่งโจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ทั้งในเรื่องอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร หนี้สินที่จำเลยต้องผ่อนชำระให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนรวมทั้งการยกที่ดินโฉนดเลขที่ 17462 และ 17463 บางส่วน พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 83/3 อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ให้แก่ เด็กหญิงสุชญา บุตรผู้เยาว์ ดังที่ปรากฏในสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความ ลงวันที่ 23 มกราคม 2557 และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดไปแล้ว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมาข้างต้นบ่งชี้ให้เห็นว่า โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสินสมรส และอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ รวมทั้งการอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับแต่วันที่โจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน การฟ้องคดีของโจทก์ในครั้งแรกก็เพื่อบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงทุกเรื่องที่ตกลงกันไว้ในบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ซึ่งก็ปรากฏว่าในการฟ้องคดีครั้งนั้น โจทก์มิได้ฟ้องขอแบ่งสินสมรสบ้านพิพาทจากจำเลยแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ข้อความที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้ในบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ที่ระบุให้โจทก์และบุตรย้ายออกไปจากบ้านพิพาทภายใน 18 เดือน ประกอบกับข้อตกลงที่จำเลยให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 17462 และ 17463 เฉพาะส่วนที่เป็นของจำเลยพร้อมบ้านเลขที่ 83/3 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินส่วนของจำเลย บ่งชี้ให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสในส่วนเกี่ยวกับบ้านพิพาทเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า บ้านหลังดังกล่าวให้ตกเป็นของจำเลย โดยบ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนที่ดินในส่วนของบิดาจำเลย ส่วนที่ดินในส่วนของจำเลยและบ้านที่ตั้งอยู่บนที่ดิน จำเลยก็ได้ยกให้แก่บุตรผู้เยาว์ไปตามข้อตกลง ด้วยเหตุนี้โจทก์และบุตรผู้เยาว์จึงต้องย้ายออกไปจากบ้านพิพาทเพราะบ้านพิพาทหลังนี้ตั้งอยู่บนที่ดินส่วนของบิดาจำเลย มิใช่ส่วนของจำเลย ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงในบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 176/2556 คดีหมายเลขแดงที่ 11/2557 ของศาลชั้นต้น โจทก์จึงมิได้ฟ้องขอแบ่งบ้านพิพาทจากจำเลยเพราะโจทก์ทราบดีว่า ได้มีข้อตกลงแบ่งบ้านพิพาทเรียบร้อยแล้วว่าเป็นของจำเลย โจทก์และบุตรผู้เยาว์จึงต้องออกไปจากบ้านพิพาท และไปอยู่ที่อื่นหลังจากโจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ด้วยเหตุนี้จำเลยจึงได้ไปกู้ยืมจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยยินยอมเป็นลูกหนี้ธนาคารดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว และได้นำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่โจทก์และจำเลยเป็นหนี้ธนาคารดังกล่าว อันเป็นการปลดเปลื้องหนี้สินให้แก่โจทก์ พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักดีกว่าพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงแบ่งบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสแล้วโดยให้บ้านพิพาทเป็นของจำเลย ดังที่ปรากฏในบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ดังนั้นในขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้บ้านพิพาทจึงมิใช่สินสมรสที่โจทก์จะมาฟ้องขอแบ่งจากจำเลยได้อีกต่อไปตามที่จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เช่นนี้ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ต้องรับผิดในหนี้จำนวน 1,700,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ อีกต่อไป เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดี ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย แต่ให้นำหนี้ร่วมจำนวน 1,700,000 บาท มาหักออกจากราคาบ้านพิพาทก่อน แล้วจึงนำบ้านพิพาทมาแบ่งกัน โจทก์ฎีกาว่าไม่ต้องร่วมรับผิดในเงินจำนวน 1,700,000 บาท เพราะจำเลยกู้ยืมเงินดังกล่าว หลังจากจดทะเบียนหย่ากับโจทก์แล้ว ดังนี้ ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของโจทก์จึงมีเพียง 1,700,000 บาท ซึ่งโจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 34,000 บาท ที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาของทุนทรัพย์ 8,500,000 บาท เป็นเงิน 170,000 บาท จึงเป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินมา เห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกิน 34,000 บาท แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 34,000 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาล และค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share