แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
++ เรื่อง ปล้นทรัพย์ ++
ในข้อที่จำเลยฎีกาว่ามีเหตุปล้นทรัพย์หรือไม่ ในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่ามีการปล้นทรัพย์ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องดังที่ศาลชั้นต้นฟังมา นอกจากนั้นจำเลยยังอ้างในอุทธรณ์อีกว่าตอนเกิดเหตุปล้นทรัพย์ผู้เสียหายอยู่ในภาวะหวาดกลัวจนขาดสติสัมปชัญญะ ผู้เสียหายไม่น่าจะสามารถจำคนร้ายได้ แสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยยอมรับว่ามีเหตุการณ์ปล้นทรัพย์ดังที่ศาลชั้นต้นรับฟัง ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบด้วยป.วิ.อ. มาตรา 15
โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องว่า ในการปล้นทรัพย์ จำเลยหรือพวกของจำเลยคนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย อันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา340 วรรคสอง ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา และการกระทำของจำเลยตามฟ้องคงเป็นความผิดตามมาตรา 340 วรรคแรก ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่า กรณีจึงต้องห้ามมิให้พิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรกปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วย มาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกับพวกอีก ๓ คน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันปล้นทรัพย์เงินสดจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท สร้อยข้อมือทองคำหนัก ๒ บาท ๑ เส้น ราคา ๑๐,๐๐๐ บาทและสร้อยคอทองคำหนัก ๒ บาท ๑ เส้น ราคา ๑๐,๐๐๐ บาท ของนางอารีรัตน์ทองชื่น ผู้เสียหายโดยจำเลยกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายบิดแขน กดตัวและศีรษะผู้เสียหายไม่ให้ขัดขืน ตบและเตะทำร้ายผู้เสียหาย ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์และพาทรัพย์นั้นไป โดยใช้รถยนต์กระบะเป็นยานพาหนะในการกระทำผิดพาทรัพย์ที่ร่วมกันลักหลบหนีไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐,๓๔๐ ตรี, ๘๓ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สร้อยข้อมือทองคำ สร้อยคอทองคำและเงินสดรวมเป็นเงิน ๓๕,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ วรรคสอง, ๓๔๐ ตรี ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ ลงโทษจำคุก ๑๘ ปีให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยข้อมือทองคำ สร้อยคอทองคำ และเงินสด ๑๕,๐๐๐ บาทรวมเป็นเงิน ๓๕,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยกับพวกอีก ๓ คนร่วมกันปล้นทรัพย์ของนางอารีรัตน์ ทองชื่น ผู้เสียหายและขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี, ๘๓ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษายืนจำเลยฎีกา ๒ ข้อ ข้อแรกอ้างว่า พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่ามีการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายจริง และข้อที่สองอ้างอีกว่า ถึงหากจะฟังว่ามีการปล้นทรัพย์จริง จำเลยก็มิใช่คนร้ายที่ปล้นทรัพย์ ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อที่ว่ามีเหตุการณ์ปล้นทรัพย์หรือไม่นี้ ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์แต่เพียงว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีผู้เสียหายไม่น่าจะจำคนร้ายได้โดยมิได้คัดค้านข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่ามีการปล้นทรัพย์ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องดังที่ศาลชั้นต้นฟังมา นอกจากนั้นจำเลยยังอ้างในอุทธรณ์อีกว่าตอนเกิดเหตุปล้นทรัพย์ผู้เสียหายอยู่ในภาวะหวาดกลัวจนขาดสติสัมปชัญญะ ผู้เสียหายไม่น่าจะสามารถจำคนร้ายได้ และคนร้ายที่ทำร้ายผู้เสียหายอาจมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับจำเลยจนผู้เสียหายจำผิดว่าเป็นจำเลยก็ได้ ข้ออ้างของจำเลยเหล่านี้แสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยยอมรับว่ามีเหตุการณ์ปล้นทรัพย์ตามฟ้องดังที่ศาลชั้นต้นรับฟัง ดังนั้นฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค ๖ เป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙วรรคแรก ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนในข้อที่ว่าจำเลยเป็นคนร้ายปล้นทรัพย์คดีนี้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง นั้น โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องว่าในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้ จำเลยหรือพวกของจำเลยคนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วยอันจะเป็นความผิดตามมาตรา ๓๔๐ วรรคสอง การกระทำของจำเลยตามฟ้องคงเป็นความผิดตามมาตรา ๓๔๐ วรรคแรก ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่า กรณีจึงต้องห้ามมิให้พิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๒ วรรคแรก ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๘๓, ๓๔๐ ตรี ลงโทษจำคุก ๑๕ ปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๖.