แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 344 ผู้หลอกลวงต้องประสงค์ต่อผล คือ การทำงานของผู้ที่ถูกหลอกให้ประกอบการงานให้แก่ตนหรือบุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงาน ฯลฯ
เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยหลอกเพื่อให้ส่งเงินเท่านั้น ไม่ได้หลอกให้ทำงาน เพราะไม่มีงานให้ทำ จึงไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ต่อผลตามมาตรา 344 จำเลยไม่มีความผิดตามมาตรานี้
พนักงานอัยการไม่มีอำนาจที่จะขอให้จำเลยใช้ค่าแรงงานที่จำเลยยังไม่จ่ายให้แก่ผู้เสียหาย กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 43 เพราะค่าแรงงานหรือค่าจ้างไม่ใช่ทรัพย์สินที่จะเรียกร้องคืน แต่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยใช้ในทางแพ่ง
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 บัญญัติให้ลงโทษผู้กระทำผิดฐานหลอกลวงประชาชน โจทก์ฟ้องว่าจำเลยหลอกลวง ช. กับพวกรวม 10 คน ไม่ได้ฟ้องว่าหลอกลวงประชาชนจำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 เท่านั้นแม้จะมิได้มีฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็ชอบที่จะปรับบทลงโทษที่ถูกได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยและนายประวัติ สุวรรณพฤกษ์ กับพวกจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทสวัสดิภาพ จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยและนายประวัติเปิดสำนักงานสาขาขึ้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมาจำเลยกับพวกร่วมกันโดยเจตนาทุจริต หลอกลวงนายชาตรี เปลี่ยนชาโตกับพวก ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งว่า ผู้ใดมีความประสงค์จะเข้าทำงานกับจำเลยจะต้องมีหลักประกันโดยการสมัครเป็นสมาชิกซื้อหุ้นของบริษัทที่จำเลยเป็นกรรมการ แล้วบริษัทจะรับเข้าทำงาน อย่างต่ำอัตราเงินเดือน ๆ ละ400 บาท เมื่อผู้ใดลาออก ทางบริษัทก็จะรับซื้อและโอนหุ้นทั้งหมดคืนเท่าราคาที่ซื้อ ฯลฯ โดยการกระทำหลอกลวงกบ่าวเท็จของจำเลยกับพวก เป็นเหตุให้นายชาตรีกับพวกหลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงพากันสมัครเข้าทำงานกับจำเลย โดยซื้อหุ้นจากบริษัทจำเลยรวม 10 รายและต่างได้มอบเงินค่าประกันให้แก่จำเลยรวมเป็นเงิน 38,500 บาทจำเลยได้รับเงินดังกล่าวแล้วบรรจุให้แต่ละคนเข้าทำงาน หาได้มีกิจการให้ทำตามปกติไม่ เงินเดือนก็จ่ายให้ไม่ครบ นายชาตรีกับพวก จึงได้ขอลาออกและขอเงินค่าประกันที่ค้างอีกจำนวนเงิน 35,700 บาทคืน จำเลยไม่คืนให้ ได้ฉ้อโกงเอาเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสียและเงินเดือนที่ค้างก็ไม่จ่ายให้ รวมเป็นเงิน 7,500 บาท
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 344, 83 ขอให้จำเลยคืนเงินค่าหุ้นและค่าแรงงานที่ค้างดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษตามมาตรา 343 ซึ่งเป็นบทหนัก ให้จำคุก 3 ปี กับคืนเงินค่าหุ้นและค่าแรง 42,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344ผู้หลอกลวงต้องประสงค์ต่อผล คือ การทำงานของผู้ที่ถูกหลอกให้ประกอบการงานให้แก่ตนหรือบุคคลที่สามโดยจะไม่ใช้ค่าแรงงาน ฯลฯเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยหลอกเพื่อให้ส่งเงินเท่านั้นไม่ได้หลอกให้ทำงาน เพราะไม่มีงานให้ทำ จึงไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ต่อผลตามมาตรา 344 จำเลยไม่มีความผิดตามมาตรานี้
ที่ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าแรงงานที่จำเลยยังไม่จ่ายด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ยังไม่ชอบ โดยอัยการไม่มีอำนาจที่จะขอให้จำเลยใช้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43เพราะค่าแรงงานหรือค่าจ้างไม่ใช่ทรัพย์สินที่จะเรียกร้องคืน แต่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายชอบที่จะไปฟ้องบังคับให้จำเลยใช้ในทางแพ่ง
ที่ศาลล่างพิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 นั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะความผิดตามมาตรานี้บัญญัติให้ลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดฐานหลอกลวงประชาชน แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้หลอกลวงนายชาตรีกับพวกรวม 10 คนเท่านั้น ไม่ได้ฟ้องว่า หลอกลวงประชาชน จึงยังไม่มีความผิดตามมาตรานี้ จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เท่านั้น แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาชอบที่จะรับบทลงโทษที่ถูกได้
พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ส่วนกำหนดโทษให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้จำเลยคืนเงินค่าหุ้น 35,700 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขอนอกนั้นให้ยกเสีย