คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า การเวนคืนที่ดินพิพาททำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้น ต้องเอาราคาสูงขึ้นนั้นมาหักกับค่าทดแทนที่ดินพิพาท ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นหยิบยกปัญหาข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยว่าราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว เท่ากับโจทก์ได้รับประโยชน์จากการเวนคืนมากกว่าราคาซื้อในครั้งแรกถึง6 เท่าตัว จึงไม่มีเหตุจะได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทจึงไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง พ.ศ. 2527 มาตรา 5 ให้นิคมอุตสาหกรรมจำเลยกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวคือวันที่ 10 ธันวาคม 2525ทั้งนี้นอกจากคำนึงถึงราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้วยังต้องคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประกอบกับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วย ดังนั้น การที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยกำหนดตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม อำเภอเมืองระยอง ในปี 2525ถึง 2527 ซึ่งเป็นบัญชีกำหนดราคาที่ดินโดยเอาตำบล ถนน และทะเลเป็นหลักในการประเมินราคา เป็นการประเมินอย่างกว้าง ๆ ราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินดังกล่าวย่อมไม่ตรงกับความเป็นจริงเสมอไป การพิจารณาสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่จะถูกเวนคืนต้องพิจารณาถึงสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่เป็นอยู่จริงในแต่ละแปลง มิใช่พิจารณาแต่เพียงว่าที่ตั้งของที่ดินอยู่ในตำบลใด ห่างจากถนนหรือทะเล ตรงตามบัญชีกำหนดราคาที่ดิน ๆในหน่วยใดก็กำหนดให้ตามนั้น ส่วนเหตุและวัตถุประสงค์ในการเวนคืนแม้จำเลยมีความประสงค์จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนภายในประเทศมากขึ้นก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 6 กำหนดให้จำเลยเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย จำเลยย่อมได้รับผลประโยชน์จากที่ดินที่ถูกเวนคืนด้วยดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับทรัพย์สินของโจทก์ไปเท่าใดก็ควรจะต้องใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ตามราคาของทรัพย์สินนั้นในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ จึงจะถือว่าเป็นราคาตามความเป็นธรรม การที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ทุกแปลงตามการแบ่งเป็นหน่วยในบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมฯ แสดงให้เห็นว่าจำเลยกำหนดราคาที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพและที่ตั้งที่แท้จริงของที่ดินของโจทก์ และไม่ได้คำนึงถึงเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วยวิธีการของจำเลยในการกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติเวนคืนฯ มาตรา 5 ดังกล่าวข้างต้น ราคาที่ดินที่เคยซื้อขายกันดังที่โจทก์นำสืบมา บางแปลงอยู่ต่างตำบลและต่างอำเภอกับที่ดินพิพาท โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าที่ดินดังกล่าวแปลงใดอยู่ห่างที่ดินพิพาทระยะทางเท่าใดสภาพและที่ตั้งของที่ดินดังกล่าวแปลงใดมีสภาพและที่ตั้งเหมือนหรือคล้ายคลึงกับที่ดินพิพาทแปลงไหนบ้าง จึงไม่อาจนำเอาราคาซื้อขายของที่ดินดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์เพื่อเปรียบเทียบกับที่ดินพิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าทดแทนเฉพาะส่วนที่ยังขาดจากราคาที่เป็นจริงและเป็นธรรม จำนวน 15,415,461.25 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่ง และตำบลมาบตาพุดอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2527 มาตรา 9 นับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน18 แปลง ให้แก่โจทก์จำนวน 3,644,948.70 บาท อย่างเหมาะสมกับสภาพและบริเวณที่ตั้งของที่ดินถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทตามฟ้องรวมกับที่ดินแปลงอื่นแล้วประมาณ 400 ไร่ โดยจดทะเบียนซื้อขายกันเมื่อวันที่ 3 และ 30 มีนาคม 2526 แล้วโจทก์ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินทั้งหมดดังกล่าวแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีนคร จำกัด เพื่อประกันหนี้ที่นายบุญทรง เลาหะพรสวรรค์ กู้ยืมมาให้โจทก์ซื้อที่ดินจำนวน 7,800,000 บาท ก่อนจดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าวได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่กิ่งอำเภอบ้านฉาง อำเภอเมืองระยอง และอำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง พ.ศ. 2525 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่10 ธันวาคม 2525 ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่ง และตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง พ.ศ. 2527 ออกใช้บังคับ ที่ดินพิพาทถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนดังกล่าวรวมเป็นเนื้อที่ 240 ไร่33.3 ตารางวา จำเลยได้กำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินพิพาททั้งหมดรวมเป็นเงิน 3,644,948.70 บาท และแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนดังกล่าวภายในระหว่างวันที่ 19 ถึง 25 สิงหาคม 2528ต่อมาวันที่ 7 มกราคม 2529 จำเลยได้วางเงินค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวโดยฝากธนาคารออมสินไว้
โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือเนื้อที่ประมาณ160 ไร่ เป็นที่คนละแปลงกับที่ดินทั้งสิบแปดแปลงที่ถูกเวนคืนเช่นนี้ ที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์จึงมิได้อยู่ในความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2497 มาตรา 14 วรรคแรก ที่จะพิจารณาให้ราคาที่ดินที่สูงขึ้นนั้นต้องหักออกจากค่าทดแทน เห็นว่า จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า การเวนคืนที่ดินพิพาททำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้น ต้องเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นมาหักกับค่าทดแทนที่ดินพิพาท ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นหยิบยกปัญหาข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยว่า ราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว เท่ากับโจทก์ได้รับประโยชน์จากการเวนคืนมากกว่าราคาซื้อในครั้งแรกถึง 6 เท่าตัว จึงไม่มีเหตุจะได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทจึงไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ควรได้รับค่าทดแทนจากจำเลยเพิ่มขึ้นหรือไม่เพียงใด และอัตราดอกเบี้ยเท่าใด นับตั้งแต่วันใด ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่ง และตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง พ.ศ. 2527 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนให้ท้องที่กิ่งอำเภอบ้านฉางอำเภอเมืองระยอง และอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองพ.ศ. 2525 ทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ซึ่งตีราคาเพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่และราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตลอดจนสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประกอบกับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม” มาตรา 5 นี้เน้นให้จำเลยกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวคือวันที่ 10 ธันวาคม 2525 ทั้งนี้นอกจากคำนึงถึงราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประกอบกับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วย ที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยกำหนดตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอำเภอเมืองระยอง ในปี 2525 ถึง 2527 ซึ่งเป็นบัญชีกำหนดราคาที่ดินโดยเอาตำบล ถนน และทะเลเป็นหลักในการประเมินราคาเป็นการประเมินอย่างกว้าง ๆ ราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินดังกล่าวย่อมไม่ตรงกับความเป็นจริงเสมอไป การพิจารณาสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่จะถูกเวนคืนต้องพิจารณาถึงสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่เป็นอยู่จริงในแต่ละแปลง มิใช่พิจารณาแต่เพียงว่าที่ตั้งของที่ดินอยู่ในตำบลใด ห่างจากถนนหรือทะเล ตรงตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินฯ ในหน่วยใดก็กำหนดให้ตามนั้น ส่วนเหตุและวัตถุประสงค์ในการเวนคืนแม้จำเลยมีประสงค์จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนภายใต้ประเทศมากขึ้นก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522มาตรา 6 กำหนดให้จำเลยเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากที่ดินที่ถูกเวนคืนด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับทรัพย์สินของโจทก์ไปเท่าใดก็ควรจะต้องใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ตามราคาของทรัพย์สินนั้นในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ จึงจะถือว่าเป็นราคาตามความเป็นธรรมการที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ทุกแปลงตามการแบ่งเป็นหน่วยในบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมฯ เอกสารหมาย ล.3 แสดงให้เห็นว่าจำเลยกำหนดราคาที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพและที่ตั้งที่แท้จริงของที่ดินของโจทก์ และไม่ได้คำนึงถึงเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วยวิธีการของจำเลยในการกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ยังไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่ง และตำบลมาบตาพุดอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2527 ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2521บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด ซื้อที่ดินในตำบลมาบตาพุต อำเภอเมืองระยอง จากเจ้าของเดิม 2 แปลงตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.3/4และ จ.7 (แผ่นที่ 2) ไร่ละ 40,000 บาท วันที่ 27 กรกฎาคม 2522ซื้ออีก 1 แปลง ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.3/3ไร่ละ 36,000 บาท และในเดือนกันยายน 2526 จำเลยซื้อที่ดินในตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองระยอง จากเจ้าของเดิม 3 แปลงตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.3, จ.3/1 และจ.3/2 แต่ละแปลงราคาไร่ละกว่า 80,000 บาท และในเดือนพฤษภาคม2528 บริษัทปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด ซื้อที่ดินในตำบลพลาอำเภอบ้านฉาง จากเจ้าของเดิม 2 แปลง ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.4 และ จ.4/1 ราคาไร่ละเกือบ 140,000 บาทและ 180,000 บาท ตามลำดับนั้น เห็นว่าที่ดินดังกล่าวบางแปลงอยู่ต่างตำบลและต่างอำเภอกับที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าที่ดินดังกล่าวแปลงใดอยู่ห่างที่ดินพิพาทระยะทางเท่าใดสภาพและที่ตั้งของที่ดินดังกล่าวแปลงใดมีสภาพและที่ตั้งเหมือนหรือคล้ายคลึงกับที่ดินพิพาทแปลงไหนบ้าง จึงไม่อาจนำเอาราคาซื้อขายของที่ดินดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์เพื่อเปรียบเทียบกับที่ดินพิพาทได้ ส่วนที่โจทก์เบิกความว่า โจทก์ซื้อที่ดินตั้งอยู่ ตำบลห้วยโป่ง และตำบลมาบตาพุต อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง จำนวน 400 ไร่ ในราคาตารางวาละ 200 บาทหรือไร่ละ 80,000 บาท เพื่อสร้างโรงงานและทำไร่ ในการซื้อที่ดินญาติของโจทก์เป็นผู้ติดต่อให้ ใช้เวลาก่อนทำสัญญาซื้อขายประมาณ 6 เดือน และได้ติดต่อขอจำนองที่ดินต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีนคร จำกัด ราคาที่จดทะเบียนซื้อขายแจ้งตามราคาประเมินเพราะเสียค่าธรรมเนียมน้อยลงและนายบุญทรง เลาหะพรสวรรค์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์เบิกความว่า เมื่อกลางปี 2525 โจทก์มาขอความช่วยเหลือจากพยานอ้างว่าต้องการเงินทุนไปให้ญาติพี่น้องทำการเกษตรพยานติดต่อหาแหล่งเงินกู้ให้โดยพยานกับบริษัทฮีโร่อิมปอร์ตเอ็กปอร์ต จำกัด เป็นผู้กู้แล้วโจทก์กับนางสาวสมควรจำนองที่ดินเป็นประกัน เห็นว่า โจทก์ไม่นำเจ้าของที่ดินเดิมมายืนยันต่อศาลว่า ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ไร่ละ 80,000 บาท ดังที่โจทก์อ้าง และที่ดินที่โจทก์ซื้อทั้งหมดมีกว่า 20 แปลง จำนวนเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่สภาพและที่ตั้งของที่ดินดังกล่าวย่อมแตกต่างกัน จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวมาในราคาเดียวกัน ทั้งโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานคร ไม่เคยประกอบอาชีพเกษตรกรรมมาก่อนและเป็นเพียงลูกจ้างของนายบุญทรง จึงไม่เชื่อว่าโจทก์กู้ยืมเงินจำนวนมากมาซื้อที่ดินเพื่อใช้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พฤติการณ์เป็นการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมากว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร จึงเชื่อว่าก่อนที่โจทก์ติดต่อขอซื้อที่ดินดังกล่าวจากเจ้าของเดิม โจทก์ทราบข้อมูลอยู่แล้วว่าจะมีการเวนคืนที่ดินในบริเวณที่ตั้งของที่ดินดังกล่าว และขณะจดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าวในวันที่ 3 และ 30 มีนาคม2526 โจทก์ทราบว่ามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่กิ่งอำเภอบ้านฉางอำเภอเมืองระยอง และอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองพ.ศ. 2525 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2525 แล้วและโจทก์ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินที่โจทก์ซื้อมาดังกล่าวบางแปลงอาจถูกจำเลยเวนคืน ดังนั้นหลักฐานเกี่ยวกับราคาที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่โจทก์ต้องทำไว้ใช้อ้างเพื่อเรียกร้องค่าทดแทนจากจำเลย ราคาที่ดินตามที่จดทะเบียนซื้อขายไว้ย่อมเป็นหลักฐานสำคัญอันหนึ่งซึ่งนำมาใช้อ้างเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ จึงไม่เชื่อว่าโจทก์จดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทในราคาที่ต่ำกว่าที่ซื้อมาเพื่อให้เสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมน้อยลงดังที่โจทก์อ้าง แต่เห็นว่าค่าทดแทนสำหรับที่ดินพิพาททั้งสิบแปดแปลงที่จำเลยกำหนดกับราคาที่จดทะเบียนซื้อขายของที่ดินพิพาททั้งสิบแปดแปลง แต่ละแปลงเปรียบเทียบกันแล้วอัตราเฉลี่ยต่อไร่เป็นจำนวนเงินที่แตกต่างกันไม่มาก บางแปลงค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดสูงกว่าราคาที่จดทะเบียนซื้อขายไว้ เช่น น.ส.3 ก. เลขที่ 546 จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้ไร่ละ 25,000 บาท จดทะเบียนซื้อขายไว้ในราคาไร่ละ 15,000 บาท และ น.ส.3 ก. เลขที่ 547 จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้เป็นสองส่วนสองอัตราเมื่อรวมเฉลี่ยแล้วไร่ละ16,932 บาท จดทะเบียนซื้อขายไว้ในราคาไร่ละ 15,000 บาทน.ส.3 ก. เลขที่ 1142 ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดกับราคาที่จดทะเบียนซื้อขายไว้มีราคาเท่ากันไร่ละ 15,000 บาท บางแปลงค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดน้อยกว่าราคาที่จดทะเบียนซื้อขายไว้ไม่มากเช่นน.ส.3 ก. เลขที่ 1035 จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้ไร่ละ 15,000 บาทจดทะเบียนซื้อขายไว้ราคาไร่ละประมาณ 16,306.56 บาท คงมีเพียงน.ส.3 ก. เลขที่ 1145 เพียงแปลงเดียวที่ราคาจดทะเบียนซื้อขายสูงเป็นสามเท่ากว่าของค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดคือไร่ละ51,014.22 บาท ต่อ 15,000 บาท ลักษณะดังกล่าวทำให้น่าเชื่อว่าราคาที่ดินพิพาทที่จดทะเบียนซื้อขายไว้เป็นราคาที่ซื้อขายกันจริงและเป็นราคาที่ตรงตามสภาพและที่ตั้งของที่ดิน แม้จดทะเบียนซื้อขายภายหลังพระราชกฤษฎีกาฯ ใช้บังคับประมาณ 3 เดือน ก็ตามแต่ก่อนไปจดทะเบียนซื้อขายมีการเจรจากันโดยโจทก์ต้องใช้เวลาติดต่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน จึงเชื่อว่าเวลาที่ตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นเวลาใกล้เคียงกับวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ถือได้ว่า ราคาที่ดินพิพาทที่จดทะเบียนซื้อขายไว้เป็นราคาตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ต่ำกว่าราคาตามความเป็นธรรม จำนวน15 แปลง จึงต้องชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้นดังนี้ โฉนดเลขที่ 22157เนื้อที่ 17 ไร่ 2 งาน 2.2 ตารางวา ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดไร่ละ 15,000 บาท เป็นเงิน 262,582.50 บาท ราคาตามความเป็นธรรม (สำหรับคดีนี้คือราคาจดทะเบียนซื้อขาย)441,059.30 บาท ค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น 178,476.80 บาทโฉนดเลขที่ 21561 เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 64.2 ตารางวา ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดไร่ละ 15,000 บาท เป็นเงิน 504,907.50 บาทราคาตามความเป็นธรรม 850,000 บาท ค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น345,092.50 บาท โฉนดเลขที่ 21559 เนื้อที่ 40 ไร่ 41.6 ตารางวาค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดไร่ละ 15,000 บาท เป็นเงิน 601,560 บาทราคาตามความเป็นธรรม 1,005,000 บาท ค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น 403,440 บาท โฉนดเลขที่ 23004 เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน24.3 ตารางวา ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดไร่ละ 15,000 บาท เป็นเงิน49,661.25 บาท ราคาตามความเป็นธรรม 83,000 บาท ค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น 33,338.75 บาท น.ส.3 ก. เลขที่ 1145เนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดไร่ละ15,000 บาท เป็นเงิน 79,125 บาท ราคาตามความเป็นธรรม269,100 บาท ค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น 189,975 บาทน.ส.3 ก. เลขที่ 550 เนื้อที่ 6 ไร่ 20 ตารางวา ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดไร่ละ 15,000 บาท เป็นเงิน 90,750 บาท ราคาตามความเป็นธรรม 121,000 บาท ค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่ม30,250 บาท น.ส.3 ก. เลขที่ 1026 เนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน30 ตารางวา ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดไร่ละ 15,000 บาท เป็นเงิน79,875 บาท ราคาตามความเป็นธรรม 90,000 บาท ค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น 10,125 บาท น.ส.3 ก. เลขที่ 1035เนื้อที่ 6 ไร่ 63 ตารางวา ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดไร่ละ15,000 บาท เป็นเงิน 91,987.50 บาท ราคาตามความเป็นธรรม100,000 บาท ค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น 8,012.50 บาทน.ส.3 ก. เลขที่ 801 เนื้อที่ 8 ไร่ 40 ตารางวา ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดไร่ละ 15,000 บาท เป็นเงิน 121,500 บาท ราคาตามความเป็นธรรม 162,000 บาท ค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น40,500 บาท น.ส.3 ก. เลขที่ 818 เนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน89 ตารางวา ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดไร่ละ 15,000 บาท เป็นเงิน164,587.50 บาท ที่ดินแปลงนี้จดทะเบียนซื้อขายรวมกับ น.ส.3 ก.เลขที่ 992 เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 87 ตารางวา ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดไร่ละ 10,000 บาท เป็นเงิน 37,175 บาท ราคาตามความเป็นธรรมของที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 818 รวมกับ น.ส.3 ก.เลขที่ 992 รวมเป็นเงิน 280,000 บาท ค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นสำหรับที่ดินทั้งสองแปลงรวมกันเป็นเงิน 78,237.50 บาทน.ส.3 ก. เลขที่ 816 เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 73 ตารางวา ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดไร่ละ 10,000 บาท เป็นเงิน 96,825 บาท ราคาตามความเป็นธรรม 116,190 บาท ค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น19,365 บาท น.ส.3 ก. เลขที่ 1025 เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน16 ตารางวา ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดไร่ละ 10,000 บาท เป็นเงิน32,900 บาท ราคาตามความเป็นธรรม 50,000 บาท ค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น 17,100 บาท โฉนดเลขที่ 2905 เนื้อที่ 12 ไร่33 ตารางวา ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดไร่ละ 10,000 บาท เป็นเงิน120,825 บาท ราคาตามความเป็นธรรม 240,000 บาท ค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น 119,175 บาท น.ส.3 ก.เลขที่ 102เนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา จำเลยกำหนดค่าทดแทนโดยแบ่งเป็นสองส่วนสองอัตราเมื่อรวมเฉลี่ยแล้วไร่ละ 14,068 บาทเป็นเงิน 205,392.80 บาท ราคาตามความเป็นธรรม 250,000 บาทค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น 44,607.20 บาท รวมค่าทดแทนที่จำเลยต้องชำระเพิ่มขึ้นทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,517,695.25 บาทและโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากยอดเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนี้ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคาร ตั้งแต่วันที่จำเลยวางเงินค่าทดแทนคือวันที่ 7 มกราคม 2529 ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2527มาตรา 9 วรรคสี่
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,517,695.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2529จนกว่าจะชำระเสร็จ

Share