คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7844/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ต่างเป็นทายาทโดยธรรมของ พ. เจ้ามรดกลำดับเดียวกัน ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่ากัน ทั้งมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งร่วมกันจนกว่าจะแบ่งมรดกแล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทเท่า ๆ กัน การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวจากจำเลยที่ 2 ได้ตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกระทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวซึ่งไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตามมาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่บังคับตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1755

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 124 (ที่ถูก โฉนดที่ดินเลขที่ 1800) ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเพิ่มและจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1800 ใส่ชื่อของโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1800 ดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งสามไปดำเนินการฝ่ายเดียว
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 124 ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี (โฉนดที่ดินเลขที่ 1800 ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี) กับให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเพิ่ม ดำเนินการใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินข้างต้น หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ โดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 อนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนที่พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 124 ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 124 ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี (โฉนดที่ดินเลขที่ 1800 ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี) คนละหนึ่งในห้าส่วน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตาย นางสาวสริตา บุตรของโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน
พิเคราะห์แล้ว อนุญาตให้นางสาวสริตาเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ในปัญหาข้อกฎหมายเพียงประการเดียวว่า คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ต่างเป็นทายาทของนายเพิ่มเจ้ามรดก โจทก์ทั้งสามฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 เกิน 1 ปี นับแต่นายเพิ่มตาย คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1755 มิใช่กรณีที่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 เป็นภริยาของนายเพิ่มเจ้ามรดก นายเพิ่มถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ที่ 2 มีบุตรกับนายเพิ่มรวม 4 คน คือ โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และจำเลยทั้งสองตามบัญชีเครือญาติ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายเพิ่ม เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2549 ตามคำสั่งศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ในขณะที่ที่ดินพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ขอออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาทเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 1800 ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2551 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 1800 และสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 124 (รวม 5 แผ่น) โจทก์ทั้งสามยังไม่ได้รับส่วนแบ่งมรดกของนายเพิ่ม เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ต่างเป็นทายาทโดยธรรมของนายเพิ่มเจ้ามรดกลำดับเดียวกัน โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกทั้งหมดเท่ากัน อีกทั้งมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งมรดกแล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทเท่า ๆ กัน การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเพิ่มโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวจากจำเลยที่ 2 ได้ตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 2 อ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกระทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวซึ่งไม่ถูกต้องจึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตามมาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่บังคับอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1755 ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสามยังไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share