คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7843/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยปลอมปนน้ำมันเครื่องอันเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อจำหน่ายและเพื่อให้บุคคลอื่นใช้และขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236 นั้น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236 จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าการปลอมปนนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพด้วยแต่โจทก์มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงไว้ในฟ้องแต่อย่างใด ส่วนคำฟ้องที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฯ มาตรา 31,52 นั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้ใช้เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตอันจะเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าวได้ ดังนั้น แม้จำเลยรับสารภาพศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้
โจทก์บรรยายฟ้องแยกมาเป็นข้อ 2.กกับข้อ2.ข แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยต่างกรรมกัน แต่โจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยหลายข้อหารวมกันในคำฟ้องข้อเดียวกันในข้อ 2.ก ส่วนหนึ่งและข้อ 2.ข อีกส่วนหนึ่ง โดยการกระทำที่บรรยายฟ้องรวมอยู่ในแต่ละข้อหานั้น โจทก์มิได้บรรยายแยกแยะ การกระทำของจำเลยให้ปรากฏชัดแจ้งพอที่จะให้เห็นได้ว่าประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ 2.กและข้อ 2.ข ในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน ดังนี้ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในทุกข้อหาตามฟ้องข้อ 2.กและข้อ2.ขเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันนอกเหนือไปจากคำฟ้องหาได้ไม่เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

2.ก จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยผลิตและบรรจุน้ำมันเครื่องยนต์เบนซินสองจังหวะ ยี่ห้อไดเกียว ทูทีจำนวน64 กระป๋อง ยี่ห้อฮอนด้าจำนวน 30 กระป๋อง ยี่ห้อซูซูกิจำนวน 8 กระป๋องโดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกาและประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมโดยมีคุณลักษณะทางฟิสิกส์และทางเคมีและส่วนผสมของโลหะต่ำ และไม่ต้องตรงตามมาตรฐานที่กำหนดตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมน้ำมันเครื่อง สำหรับเครื่องยนต์เบนซินสองจังหวะที่กำหนดจุดไหลไม่เกินลบ 5 เถ้าซัลเฟตไม่เกินร้อยละ 0.5และโลหะไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.01 อันเป็นการปลอมปนเครื่องอุปโภคเพื่อจำหน่ายและเพื่อให้บุคคลอื่นใช้ และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันมีน้ำมันเครื่องยนต์เบนซินสองจังหวะที่ไม่ได้มาตรฐานดังกล่าวไว้เพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

2.ข จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าน้ำมันเครื่องไดเกียวของบริษัทไดเกียว จำกัด ผู้เสียหายซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในราชอาณาจักรด้วยการทำปลอมกระดาษที่ใช้ในการผนึกฝากระป๋องให้ปรากฏเครื่องหมายการค้าไดเกียวของผู้เสียหายแล้วจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวซึ่งเป็นชื่อ รูป รอยประดิษฐ์และข้อความในการประกอบการค้าของผู้เสียหายด้วยการทำให้ปรากฏที่สินค้า ที่ฝากระป๋องน้ำมัน ซึ่งเป็นภาชนะสำหรับบรรจุน้ำมันเครื่องเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าน้ำมันเครื่องที่บรรจุอยู่ในภาชนะดังกล่าวเป็นน้ำมันเครื่องที่ผลิตโดยผู้เสียหายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

วันที่ 14 ตุลาคม 2541 เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมยึดน้ำมันเครื่องที่จำเลยทั้งสองผลิต และฝาปิดกระป๋องน้ำมันซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าปลอมดังกล่าว และกระป๋องน้ำมันเครื่องเปล่ายี่ห้อเชลล์จำนวน 50 กระป๋อง กระป๋องน้ำมันเครื่องเปล่ายี่ห้อฮอนด้าจำนวน 14 กระป๋อง ซึ่งจำเลยทั้งสองมีไว้เพื่อใช้ในการบรรจุผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 16, 17, 20, 31, 36, 48,52, 55 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 236, 272, 273และริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534มาตรา 108 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236, 272(1), 273 และพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 20,31, 36, 48, 52, 55 ที่แก้ไขแล้ว เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่แก้ไขแล้วความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกคนละ 2 ปีปรับคนละ 40,000 บาท กระทงหนึ่ง ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 272(1) ให้จำคุกคนละ 3 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท กระทงหนึ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236 ให้จำคุกคนละ 1 ปีปรับคนละ 6,000 บาท กระทงหนึ่ง ความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 20, 48 ให้จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท กระทงหนึ่ง ความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 31,52 ให้จำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท กระทงหนึ่ง และความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพ.ศ. 2511 มาตรา 36, 55 ให้ปรับคนละ 5,000 บาท อีกกระทงหนึ่งรวมจำคุกคนละ 3 ปี 10 เดือน ปรับคนละ 68,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ1 ปี 11 เดือน ปรับคนละ 34,000 บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตัวต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองไว้ในข้อ 2 ว่า เมื่อระหว่างวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 14ตุลาคม 2541 เวลากลางวันเกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ ก. จำเลยทั้งสองร่วมกันทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยผลิตและบรรจุน้ำมันเครื่องยนต์เบนซินสองจังหวะ ยี่ห้อไดเกียว ทูทีจำนวน 64 กระป๋อง ยี่ห้อฮอนด้าจำนวน30 กระป๋อง ยี่ห้อซูซูกิจำนวน 8 กระป๋อง โดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกาและประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรมอันเป็นการปลอมปนเครื่องอุปโภคเพื่อจำหน่ายและเพื่อให้บุคคลอื่นใช้และจำเลยทั้งสองร่วมกันมีน้ำมันเครื่องยนต์สองจังหวะที่ไม่ได้มาตรฐานดังกล่าวไว้เพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และข้อ ข. จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าน้ำมันเครื่องไดเกียวของบริษัทไดเกียวผู้เสียหายซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อนายทะเบียนในราชอาณาจักรด้วยการทำปลอมกระดาษที่ใช้ในการผนึกฝากระป๋องให้ปรากฏเครื่องหมายการค้าไดเกียวของผู้เสียหาย แล้วจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวซึ่งเป็นชื่อ รูป รอยประดิษฐ์และข้อความในการประกอบการค้าของผู้เสียหายด้วยการทำให้ปรากฏที่สินค้า ที่ฝากระป๋องน้ำมันซึ่งเป็นภาชนะสำหรับบรรจุน้ำมันเครื่องเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าน้ำมันเครื่องที่บรรจุอยู่ในภาชนะดังกล่าวเป็นน้ำมันเครื่องที่ผลิตโดยผู้เสียหายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 16, 17, 20, 31, 36, 48, 52, 55 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236, 272, 273 มาด้วย เห็นได้ว่าที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองปลอมปนน้ำมันเครื่องอันเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อจำหน่ายและเพื่อให้บุคคลอื่นใช้ และขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236 มาด้วยนั้นการปลอมปนเครื่องอุปโภคบริโภคอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 236ดังกล่าวได้นั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าการปลอมปนนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพด้วย แต่โจทก์มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในฟ้องแต่อย่างใด และตามคำฟ้องโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511มาตรา 31, 52 มาด้วย แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ใช้เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตอันจะเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าวได้ ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดตามบทกฎหมายทั้งสองดังกล่าวนี้ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236 และตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 31, 52 จึงไม่ชอบ นอกจากนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว การที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองแยกมาเป็นข้อ 2.ก กับข้อ 2.ข แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในการกระทำตามฟ้องข้อ 2.ก เป็นความผิดต่างกรรมกับการกระทำตามฟ้องข้อ 2.ข ส่วนการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องข้อ 2.ก และข้อ 2.ข แต่ละข้อนั้น โจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยหลายข้อหารวมกันมาในคำฟ้องข้อเดียวกันในข้อ 2.กส่วนหนึ่ง และข้อ 2.ข อีกส่วนหนึ่ง โดยการกระทำที่บรรยายฟ้องรวมอยู่ในแต่ละข้อนั้น โจทก์มิได้บรรยายแยกแยะการกระทำของจำเลยให้ปรากฏชัดแจ้งพอที่จะให้เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ 2.กในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกันและให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ 2.ข ในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน ดังนี้ ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในทุกข้อหาตามฟ้องข้อ 2.ก และทุกข้อหาตามฟ้องข้อ 2.ข เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันนอกเหนือไปจากคำฟ้องหาได้ไม่ เพราะเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องข้อ 2.ก และข้อ 2.ข แต่ละข้อเป็นหลายกรรมต่างกันจึงไม่ชอบ และปัญหาดังกล่าวมาข้างต้นนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้งดการปรับหรือลดค่าปรับนั้นเห็นว่า สำหรับความผิดที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามฟ้องนั้น ตามพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นการกระทำที่มุ่งเอาเปรียบผู้บริโภคโดยเห็นแก่ประโยชน์ของตนแต่ฝ่ายเดียว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดโทษจำคุกและปรับโดยรอการลงโทษจำคุกให้นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272(1), 273 และพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพ.ศ. 2511 มาตรา 20, 36, 48, 55 สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272(1), 273 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 ซึ่งมีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปีและปรับคนละ 40,000 บาท ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 20, 36, 48, 55เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 20, 48 ซึ่งมีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือนและปรับคนละ 10,000 บาท รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี 6 เดือนและปรับคนละ 50,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี 3 เดือน และปรับคนละ 25,000 บาท ให้ยกฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236 และตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 31,52 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share