คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 784-786/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยไม่มีระบุถึงวิธีการคิดคำนวณในการจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานกรณีเกษียณอายุ แต่ระบุให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์หรือผู้มีอำนาจกำหนด ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 และประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างว่าด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การใช้แรงงานหญิง การหักเงินเดือนค่าจ้างค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด และการรับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน ก็มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานกรณีเกษียณอายุแต่อย่างใด จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 193/1 และมาตรา 193/6 มาเป็นหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณ

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาโดยเรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับและเรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกัน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 224,040.91 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 229,696.47 บาท และโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 229,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวน
โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์ทั้งสามออกจากงานหรือพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับหรือข้อกำหนดของจำเลย โจทก์ทั้งสามแต่ละคนมีสิทธิได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 47 และประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างว่าด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การใช้แรงงานหญิง การหักเงินเดือนค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด และการรับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน ข้อ 7 โจทก์ทั้งสามได้รับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 73,524 บาท 75,380 บาท และ 75,380 บาท ตามลำดับ จำเลยจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานกรณีเกษียณอายุให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้วเป็นเงิน 588,192 บาท 603,040 บาท และ 603,040 บาท ตามลำดับ ที่โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์อ้างว่าจำเลยคำนวณจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานกรณีเกษียณอายุให้แก่โจทก์ทั้งสามไม่ครบถ้วนถูกต้อง จำเลยจะต้องคำนวณในการจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสามโดยใช้หลักเกณฑ์ตามประกาศเรื่องข้อบังคับเกี่ยวกับพนักงาน พ.ศ.2546 ข้อ 8.1 จำเลยจึงต้องจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานกรณีเกษียณอายุส่วนที่ขาดเป็นเงินจำนวน 224,040 บาท 229,696 บาท และ 229,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์ทั้งสามตามลำดับนั้น เห็นว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับพนักงาน พ.ศ.2546 ข้อ 8.1 เป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดต่อหนึ่งชั่วโมง ส่วนข้อ 9 ก็เป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณคิดหักหรือตัดเงินเดือนค่าจ้างต่อหนึ่งวันโดยอาศัยหลักเกณฑ์การคิดคำนวณค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดต่อหนึ่งชั่วโมงตามข้อ 8.1 ซึ่งหลักเกณฑ์การคิดคำนวณทั้ง 2 ข้อดังกล่าวหาได้มีข้อความใดให้รวมถึงการคิดคำนวณในการจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานกรณีเกษียณอายุไม่ และหากคิดคำนวณค่าจ้างต่อหนึ่งวันตามข้อ 8.1 และข้อ 9 ดังที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างในคำฟ้องถึงวิธีคิดคำนวณโดยนำเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหารด้วย 173.8 คูณด้วย 8 ก็จะได้เป็นค่าจ้างจำนวน 1 วัน เฉพาะโจทก์ที่ 1 ได้รับเงินเดือนค่าจ้างสุดท้ายจำนวน 73,524 บาท เมื่อคิดคำนวณค่าจ้างต่อ หนึ่งวัน ของโจทก์ที่ 1 ตามหลักเกณฑ์ข้างต้น โจทก์ที่ 1 จะได้รับค่าจ้างจำนวน 3,384.30 บาท ต่อหนึ่งวัน เมื่อคูณด้วย 30 โจทก์ที่ 1 จะมีเงินเดือนค่าจ้างสุดท้ายถึง 101,529 บาท ซึ่งไม่ถูกต้องตรงกับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่โจทก์ที่ 1 ได้รับจริง นอกจากนี้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับพนักงาน พ.ศ.2546 ข้อ 14 ก็ระบุเรื่องการรับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานกรณีเกษียณอายุว่า การรับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานสำหรับพนักงานที่เกษียณอายุให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์หรือผู้มีอำนาจกำหนด ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 และประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างว่าด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การใช้แรงงานหญิง การหักเงินเดือนค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด และการรับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน ก็มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานกรณีเกษียณอายุแต่อย่างใด กรณีจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/1 และมาตรา 193/6 มาเป็นหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณเงินดังกล่าวโดยนำเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์แต่ละคนหารด้วย 30 และคูณด้วย 240 ก็จะเป็นจำนวนเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานกรณีเกษียณอายุ ซึ่งโจทก์แต่ละคนจะพึงได้รับ เมื่อจำเลยคิดคำนวณเงินดังกล่าวที่โจทก์แต่ละคนจะพึงได้รับเป็นจำนวนถูกต้องตามกฎเกณฑ์ข้างต้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามนั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามสำนวนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share