แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมี ค.โนตารีปับลิกแห่งมลรัฐนิวเจอร์ซี ประเทศสหรัฐอเมริกาลงลายมือชื่อรับรองและยืนยันว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแห่งมลรัฐนิวเจอร์ซี ประเทศสหรัฐอเมริกาลายมือชื่อในเอกสารฉบับนี้เป็นลายมือชื่อของร.ผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งมีอำนาจโดยถูกต้องในการลงลายมือชื่อในนามของโจทก์ และ ร.ได้สาบานตนและลงลายมือชื่อต่อหน้าตนจริง จำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบหักล้างให้เห็นว่า ร.มิใช่ผู้ช่วยเลขานุการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในการมอบอำนาจให้นายบุญมาฟ้องคดีนี้ และโจทก์มิใช่นิติบุคคลตามกฎหมายแห่งมลรัฐนิวเจอร์ซี กรณีจึงไม่มีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริง ดังนี้ แม้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะไม่มีใบสำคัญของรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาแสดงว่า ค.เป็นโนตารีปับลิกแห่งมลรัฐนิวเจอร์ซีผู้มีอำนาจเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจนั้น แต่เมื่อไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่ หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริง หนังสือมอบอำนาจนั้นจึงไม่ต้องทำตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 47 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTILIUM” ของโจทก์และเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTIL” ที่จำเลยที่ 2 ใช้อยู่ต่างเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำที่เป็นตัวอักษรโรมันและประดิษฐ์ขึ้นเองโดยไม่มีคำแปลเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีตัวอักษร 8 ตัว อ่านออกเสียงเป็น 3 พยางค์ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTIL” มีตัวอักษร 5 ตัว อ่านออกเสียงเป็น 2 พยางค์ ตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้ง 5 ตัวเหมือนกับตัวอักษร 5 ตัวแรกของเครื่องหมายการค้าโจทก์และวางอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน คงมีข้อแตกต่างกันที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีตัวอักษรมากกว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลย 3 ตัว คือตัวอักษร IUM เครื่องหมายการค้าของโจทก์อ่านว่าโมทิเลียม ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองอ่านว่า โมทิล สำเนียงการเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองคล้ายคลึงกับการเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์ 2 พยางค์แรกมาก และบางครั้งมีผู้เรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยย่อว่าโมทิล ซึ่งสำเนียงการเรียกขานเหมือนกับการเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสอง การที่จะวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกันอันจะทำให้ประชาชนหลงผิดได้หรือไม่นั้น จะพิจารณาแต่เฉพาะความแตกต่างกันของตัวอักษรและจำนวนพยางค์ที่ใช้ประกอบขึ้นยังไม่ได้จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์อื่น ๆ ประกอบด้วยว่าสามารถทำให้สาธารณชนหลงผิดได้หรือไม่ ปรากฎว่าผลิตภัณฑ์ยาของโจทก์และผลิตภัณฑ์ยาของจำเลยทั้งสองต่างใช้ตัวยาดอมเพอริโอนเหมือนกัน เมื่อชื่อยาของโจทก์และของจำเลยที่ 2 คล้ายคลึงกันและเป็นชื่อทางภาษาต่างประเทศ ประชาชนจึงอาจซื้อยาของจำเลยที่ 2 ไปโดยสำคัญผิดว่าเป็นยาของโจทก์ได้ดังนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTIL” ของจำเลยทั้งสองจึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTILIUM”ของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดแล้ว โจทก์ผลิตยาภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า”MOTILIUM” ออกจำหน่ายแพร่หลายไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว โดยในประเทศไทยโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับยาของโจทก์ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 การที่จำเลยที่ 2 ผลิตยาชนิดเดียวกับยาของโจทก์ออกจำหน่ายในท้องตลาดเมื่อเดือนกันยายน 2532 แข่งกับโจทก์โดยใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ ย่อมมีให้ประชาชนซื้อยาของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีสรรพคุณเช่นเดียวกับยาของโจทก์ไปโดยหลงผิดว่าเป็นยาของโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวย่อมมีผลทำให้โจทก์จำหน่ายยาได้น้อยกว่าปกติ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว แม้โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่ายอดการจำหน่ายยาของโจทก์ลดน้อยลงเพียงใดก็ตาม ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้โดยวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแต่ตามคำฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน เป็นเงินเดือนละ 50,000 บาท ตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะเลิกการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTIL” ดังนี้การที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นจำนวนแน่นอนเป็นเงิน100,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนนี้ จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายนอกไปจากที่ปรากฎในคำฟ้อง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องโดยกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ10,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTIL” อย่างไรก็ดี โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องจำนวนค่าเสียหายดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์ไม่เกิน 100,000 บาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTIL”เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า”MOTILIUM” และ “โมทิเลียม” ของโจทก์ ถึงขนาดเป็นการลวงสาธารณชนห้ามจำเลยทั้งสองใช้หรือยื่นขอจดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องไม่ว่าในทางใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTIL”หรือเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTILIUM” หรือ “โมทิเลียม” ของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า”MOTIL”
จำเลยทั้งสองให้การว่า หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีกงสุลไทยเป็นพยาน และแม้จะมีพนักงานโนตารีปับลิกเป็นพยานในการมอบอำนาจ แต่โจทก์ไม่มีใบสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศนั้นแสดงว่าบุคคลที่เป็นพยานเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้ นายบุญมาเตชะวณิช จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่เคยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า”MOTIL” แต่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า”MOTIL 10 mg. TABLETS” ซึ่งจำเลยที่ 2 ประดิษฐ์ขึ้นมาเองจากคำว่า”MOTILE” แปลว่า การเคลื่อนไหวของลำไส้ และใช้กับสินค้ายกแก้ท้องอืด แน่นท้อง โดยสุจริต มิได้ลอกเลียนมาจากเครื่องหมายการค้าคำว่า”MOTILIUM” และ “โมทิเลียม” ของโจทก์ ซึ่งใช้กับสินค้ายาแก้อาเจียน สินค้ายาของจำเลยที่ 2 และของโจทก์เป็นคนละประเภทกันและรักษาโรคไม่เหมือนกัน ไม่อยู่ในลักษณะแข่งขันกัน จึงไม่อาจทำให้ยอดการจำหน่ายสินค้าของโจทก์ลดลงได้ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า”MOTIL” ที่จำเลยทั้งสองใช้กับสินค้าของจำเลยทั้งสองเหมือนหรือคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTILIUM” และเครื่องหมายการค้าคำว่า”โมทิเลียม” ของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองใช้ ยื่นคำขอจดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ว่ากรณีใด ๆ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสองศาลรวม 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจให้นายบุญมาเตชะวณิชฟ้องคดีนี้ตามเอกสารหมาย จ.46 มีเพียงโนตารีปับลิกลงลายมือชื่อรับรอง โดยไม่มีใบสำคัญ ของรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกายืนยันว่าผู้ลงลายมือชื่อในฐานะโนตารีปับลิกนั้นเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงไม่ชอบด้วยมาตรา 47 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง น่าเชื่อว่ามิใช่หนังสือมอบอำนาจที่แท้จริง โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายบุญมาฟ้องคดีนี้ เห็นว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีแคธลีน ออเจลลิ โนตารีปับลิก แห่งมลรัฐนิวเจอร์ซี ประเทศสหรัฐอเมริกาลงลายมือชื่อรับรองและยืนยันว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแห่งมลรัฐนิวเจอร์ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ลายมือชื่อในเอกสารฉบับนี้เป็นลายมือชื่อของนายริชาร์ด เอฟ.บิริเบาเออรื ผู้ช่วยเลขานุการซึ่งมีอำนาจโดยถูกต้องในการลงลายมือชื่อในนามของโจทก์ และนายริชาร์ด.เอฟ.บิริเบาเออร์ ได้สาบานตนและลงลายมือชื่อต่อหน้าตนจริง จำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบหักล้างให้เห็นว่านายริชาร์ด.เอฟ.บิริเบาเออร์ มิใช่ผู้ช่วยเลขานุการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในการมอบอำนาจให้นายบุญมาฟ้องคดีนี้ และโจทก์มิใช่นิติบุคคลตามกฎหมายแห่งมลรัฐนิวเจอร์ซี กรณีจึงไม่มีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.46 ไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริง ดังนี้ แม้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะไม่มีใบสำคัญของ รัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาแสดงว่าแคธลิน ออเจลลิ เป็นโนตารีปับลิกแห่งมลรัฐนิวเจอร์ซีผู้มีอำนาจเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจนั้น แต่เมื่อไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจนั้นไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริง หนังสือมอบอำนาจนั้นจึงไม่ต้องทำตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 47 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ข้อเท็จจริงได้ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.46 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าว “MOTILIUM”ของโจทก์และเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTIL” ที่จำเลยที่ 2 ใช้อยู่ต่างเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำที่เป็นอักษรโรมัน และประดิษฐ์ขึ้นเองโดยไม่มีคำแปล เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีตัวอักษร 8 ตัวอ่านออกเสียงเป็น 3 พยางค์ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTIL”มีตัวอักษร 5 ตัว อ่านออกเสียงเป็น 2 พยางค์ ตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดังกล่าวทั้ง 5 ตัว เหมือนกับตัวอักษร 5 ตัวแรกของเครื่องหมายการค้าโจทก์และวางอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน คงมีข้อแตกต่างกันที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีตัวอักษรมากกว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลย 3 ตัว คือตัวอักษร IUM เครื่องหมายการค้าของโจทก์อ่านว่า โมทิเลียม ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองอ่านว่าโมทิล สำเนียงการเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองคล้ายคลึงกับการเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์ 2 พยานแรกมาก และบางครั้งมีผู้เรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยย่อว่า โมทิล ซึ่งสำเนียงการเรียกขานเหมือนกับการเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์ 2 พยานแรกมาก และบางครั้งมีผู้เรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยย่อว่า โมทิล ซึ่งสำเนียงการเรียกขานเหมือนกับการเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสอง การที่จะวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกันอันจะทำให้ประชาชนหลงผิดได้หรือไม่นั้น จะพิจารณาแต่เฉพาะความแตกต่างกันของตัวอักษรและจำนวนพยางค์ที่ใช้ประกอบขึ้นยังไม่ได้ จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์อื่น ๆ ประกอบด้วยว่าสามารถทำให้สาธารณชนหลงผิดได้หรือไม่ คดีนี้ผลิตภัณฑ์ยาของโจทก์และผลิตภัณฑ์ยาของจำเลยทั้งสองต่างใช้ตัวยาดอมเพอริโดนเหมือนกัน ในทางปฏิบัติผู้ซื้อยาสามารถซื้อยาอันตรายที่จำหน่ายกันในท้องตลาดได้โดยไม่มีใบสั่งจากแพทย์และร้านขายยาที่จำหน่ายยาโดยไม่มีเภสัชกรควบคุม เมื่อชื่อยาของโจทก์และของจำเลยที่ 2 คล้ายคลึงกันและเป็นชื่อทางภาษาต่างประเทศ ประชาชนจึงอาจซื้อยาของจำเลยที่ 2 ไปโดยสำคัญผิดว่าเป็นยาของโจทก์ได้ ดังนี้เครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTIL” ของจำเลยทั้งสองจึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTILIUM” ของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดแล้ว
จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใด จึงต้องฟังว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย และการกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นจำนวนแน่นอนเป็นเงิน 100,000 บาท เป็นการพิพากษาเกินกว่าคำขอของโจทก์ เห็นว่าโจทก์ผลิตยาภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTILIUM” ออกจำหน่ายแพร่หลายไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว โดยในประเทศไทยโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับยาของโจทก์ตั้งแต่พ.ศ. 2524 การที่จำเลยที่ 2 ผลิตยาชนิดเดียวกับยาของโจทก์ออกจำหน่ายในท้องตลาดเมื่อเดือนกันยายน 2532 แข่งกับโจทก์โดยใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ ย่อมทำให้ประชาชนซื้อยาของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีสรรพคุณเช่นเดียวกับยาของโจทก์ไปโดยหลงผิดว่าเป็นยาของโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวย่อมมีผลทำให้โจทก์จำหน่ายยาได้น้อยกว่าปกติ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้วแม้โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่ายอดการจำหน่ายยาของโจทก์ลดน้อยลงเพียงใดก็ตามศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้โดยวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแต่ตามคำฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน เป็นเงินเดือนละ 50,000 บาท ตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะเลิกการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า”MOTIL” ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นจำนวนแน่นอนเป็นเงิน 100,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนนี้จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายนอกไปจากที่ปรากฎในคำฟ้อง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องโดยกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า”MOTIL” อย่างไรก็ดี โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องจำนวนค่าเสียหายดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์ไม่เกิน 100,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะเลิกการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “MOTIL” แต่ทั้งนี้ค่าเสียหายดังกล่าวรวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์