คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7830/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยกระทำผิดอาญาคดีนี้ขึ้นอีกในระหว่างได้รับการพักการลงโทษเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งการพักการลงโทษตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ฯ กฎกระทรวงมหาดไทย ข้อ 93ออกตามความในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ฯ มาตรา 58 และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษฯ มาตรา 6 จำเลยจึงมิใช่ผู้ซึ่งพ้นโทษไปแล้ว ก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปีฯ ใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปีฯ มาตรา 4 ศาลชั้นต้น ย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยได้
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 กับพวก มีการติดต่อประสานงานกันอย่างใกล้ชิดกรรมวิธีในการผลิตมีหลายขั้นตอนตั้งแต่จัดหาสถานที่จัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ สารเคมี และแรงงาน ผู้เข้าร่วมในขั้นตอนใดตอนหนึ่ง ย่อมถือว่าเป็นตัวการร่วมจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาเครื่องอัดเม็ดและสารเคมี โดยค้นพบผงเมทแอมเฟตามีนหัวเชื้อ อุปกรณ์การผลิตได้ที่บ้านของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกถือว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ จึงเป็นตัวการร่วมกันผลิต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 4, 6(7 ทวิ), 13 ทวิ, 62, 89, 106, 106 ทวิ, 116ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92 ริบวัตถุออกฤทธิ์ของกลางทั้งหมดให้แก่กระทรวงสาธารณะสุข เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9427/2531 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3774/2538 ของศาลชั้นต้น ตามลำดับ

จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์เสร็จ จำเลยที่ 2ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ และจำเลยที่ 1และที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อตามฟ้องจริง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง,89 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 2มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ฐานร่วมกันผลิตและร่วมกันมีอีเฟดรีนและเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 จำคุกคนละ 20 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92 แล้ว รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 26 ปี 8 เดือนลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฐานร่วมกันมีอีเฟดรีนและเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นควรกำหนดโทษสถานเบาจำคุกคนละ 12 ปี และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง โดยมิได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี คำให้การชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 และคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 6 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 9 ปี จำคุกจำเลยที่ 5 และที่ 6 คนละ 15 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นให้การรับสารภาพฐานร่วมกันผลิตและร่วมกันมีอีเฟดรีนและเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน แม้จะให้การรับสารภาพฐานนี้ในชั้นพิจารณา แต่ได้นำสืบปฏิเสธ จึงเห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก จำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันผลิตและร่วมกันมีอีเฟดรีนและเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายมีกำหนด 15 ปี สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน เมื่อเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แล้วรวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 15 ปี 6 เดือน ริบวัตถุออกฤทธิ์ของกลางทั้งหมดให้แก่กระทรวงสาธารณสุข นับโทษจำเลยที่ 1ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9427/2531 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3774/2538ของศาลชั้นต้นนั้น ไม่ปรากฏว่าศาลในคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาแล้ว จึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีคงมีปัญหาชั้นฎีกาในประการแรกว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ผลิตเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนและร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 มีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนไว้ในครอบครองเพื่อขายตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีร้อยตรีอนันต์ ทองระย้านายสมชาย ศรีปานเงิน และนายพจน์ โอภาสนิพันธ์ เจ้าพนักงานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้สืบสวนและจับกุมจำเลยที่ 1 กับพวกมาเบิกความได้สาระสำคัญว่า ก่อนมีการจับกุมจำเลยที่ 1 กับพวกในคดีนี้ จำเลยที่ 1 เคยถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนมาก่อนแล้ว ในระหว่างที่ได้รับการพักการลงโทษ จำเลยที่ 1 กับพวกก็ยังร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนอีก ร้อยตรีอนันต์ นายสมชายและนายพจน์จึงเฝ้าติดตามดูพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ตลอดมา จากการติดตามได้ความว่าในวันที่ 28 มีนาคม 2538 ร้อยตรีอนันต์ได้รับรายงานจากนายสมชายและนายพจน์ว่า จำเลยที่ 1 และนายยุทธนาหรือจิน ปฐมวรกุล น้องชายได้รับมอบเครื่องอัดเม็ดเมทแอมเฟตามีนจากนางมาลี ศรีกิตติวรรณา และนายกู๋ไม่ทราบนามสกุลที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์สาขาท่าพระ จากนั้นนายยุทธนาได้นำเครื่องอัดเม็ดเมทแอมเฟตามีนไปเก็บไว้ที่สวนนพคุณ ตำบลท่าทองหลางอำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2538จำเลยที่ 1 นัดพบจำเลยที่ 2 ที่ 6 และนายยุทธนาที่ร้านอาหารประดิษฐ์โภชนา จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังจากนั้น จำเลยที่ 2 ที่ 6ได้ขับรถยนต์ตามนายยุทธนาไปที่สวนนพคุณ ส่วนจำเลยที่ 1นั่งรถยนต์แท็กซี่แยกทางไป จนกระทั่งเวลา 17 นาฬิกาเศษนายยุทธนากับจำเลยที่ 6 ขับรถยนต์ออกมาจากสวนบรรทุกเครื่องอัดเม็ดเมทแอมเฟตามีนมากับรถด้วย ร้อยตรีอนันต์กับพวกได้ทราบจากสายลับในภายหลังว่าเครื่องขัดข้องนายยุทธนาจึงนำไปซ่อมที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 4 พฤษภาคม 2538 เวลาประมาณ7 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 นั่งรถยนต์แท็กซี่ออกจากบ้านจำเลยที่ 1 ไปพบจำเลยที่ 2 ที่ 6 ที่โรงแรมวังธาราปริ๊นเซส จังหวัดฉะเชิงเทราจากนั้นจำเลยที่ 3 นั่งรถยนต์แท็กซี่ไปที่ร้านโก๋แฟชั่นของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 แวะส่งจำเลยที่ 1ที่ร้านโก๋แฟชั่นแล้วเลยไปสวนนพคุณ ร้อยตรีอนันต์ได้รับรายงานจากสายลับว่าจำเลยทั้งหกผลิตเมทแอมเฟตามีนเสร็จแล้ว 1 ล็อตต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2538 ร้อยตรีอนันต์กับพวกเฝ้าสังเกตการณ์ที่บ้านจำเลยที่ 1 เลขที่ 99/197 ตั้งแต่เช้าจนเวลาประมาณ 7 นาฬิกา จำเลยที่ 4 ขับรถยนต์แท็กซี่มารับจำเลยที่ 3ไปซื้อสารเคมีที่ร้านแม่กลองพาณิชย์ ถนนเจริญกรุง แล้วกลับมาส่งจำเลยที่ 3 ที่บ้านจำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 4 ขับรถออกไปคนเดียว จำเลยที่ 5 แวะมาที่บ้านจำเลยที่ 1 สักครู่ก็ออกไปจนกระทั่งเวลาประมาณ 13 นาฬิกา จำเลยที่ 4 ขับรถมาที่บ้านจำเลยที่ 1 อีกครั้งหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ช่วยกันหิ้วถุงพลาสติกมาใส่ท้ายรถจำเลยที่ 4 แล้วพากันออกจากบ้านไป จำเลยที่ 4ขับรถไปจอดที่ร้าน ส. กุ้งเผา อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เข้าไปนั่งรอในร้านประมาณ30 นาที จำเลยที่ 2 ก็ขับรถเข้ามาสมทบ จำเลยที่ 4 นำถุงพลาสติกที่นำมาจากบ้านจำเลยที่ 1 จำนวน 2 ถุง ไปไว้ในรถจำเลยที่ 2 ร้อยตรีอนันต์จึงให้สัญญาณนายสมชายและนายพจน์กับพวกเข้าจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทันที ผลตรวจค้นพบผงเมทแอมเฟตามีนในถุงพลาสติก 2 ถุง น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม หลังจากนั้นติดตามจับกุมจำเลยที่ 5 ได้พร้อมเครื่องอัดเม็ดเมทแอมเฟตามีนที่สวนนพคุณตรวจค้นสวนนพคุณพบเครื่องอัดเม็ดเมทแอมเฟตามีนผงเมทแอมเฟตามีนน้ำหนักประมาณ 11 กิโลกรัม เมื่อตรวจค้นบ้านเลขที่ 99/197 ของจำเลยที่ 1 พบผงเมทแอมเฟตามีนน้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม อุปกรณ์ผลิตเมทแอมเฟตามีน และหัวเชื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 12 รายการ ส่วนที่บ้านจำเลยที่ 1 เลขที่17/26 พบผงเคมีและอุปกรณ์ต่าง ๆ จำนวน 5 รายการ จับกุมจำเลยที่ 6 ได้ที่บ่อเลี้ยงปลาถนน รพช. หนามแดง ตำบลหนามแดงอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจำเลยที่ 6 พักอาศัยตรวจค้นพบผงเมทแอมเฟตามีนหนัก 250 กรัม แคปซูลเปล่าสีฟ้าเขียวจำนวนหนึ่ง จากนั้นได้ควบคุมตัวจำเลยทั้งหกไปดำเนินคดีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พยานโจทก์ทั้งสามปากเบิกความได้สอดคล้องกัน พยานดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ทั้งไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่มีข้อควรระแวงสงสัยว่าจะมีการกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยที่ 1อยู่ในเหตุการณ์ขณะมีการผลิตเมทแอมเฟตามีนที่สวนนพคุณก็ตามแต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาเครื่องอัดเม็ดเมทแอมเฟตามีนและสารเคมีในการกระทำความผิดดังกล่าว ร้อยตรีอนันต์กับพวกได้ติดตามพฤติการณ์ของกลุ่มจำเลยที่ 1 มาตลอดนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 กับนายยุทธนาหรือจิน ปฐมวรกุล น้องชายไปรับเครื่องอัดเม็ดเมทแอมเฟตามีนจากนางมาลี ศรีกิตติวรรณา และนายกู๋ ไม่ทราบนามสกุล ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขาท่าพระ จากนั้นนายยุทธนาได้นำเครื่องอัดเม็ดไปไว้ที่สวนนพคุณ ต่อมาจำเลยที่ 1 นัดพบกับจำเลยที่ 2 ที่ 6 และนายยุทธนาที่ร้านอาหารประดิษฐ์โภชนา จังหวัดฉะเชิงเทรา และจำเลยที่ 2 กับที่ 6 เข้าไปอัดเม็ดเมทแอมเฟตามีนที่สวนนพคุณกับนายยุทธนา แต่ปรากฏว่าเครื่องขัดข้อง จึงต้องนำไปซ่อมที่กรุงเทพมหานคร เมื่อซ่อมเครื่องเสร็จแล้ว จำเลยทั้งหกก็ผลิตเมทแอมเฟตามีนได้ 1 ล็อต จนกระทั่งวันที่ 10 พฤษภาคม 2538ร้อยตรีอนันต์กับพวกได้รับรายงานจากสายลับว่าจำเลยที่ 1 และที่ 5 จะร่วมกันนำสารเคมีและเครื่องอัดเม็ดเมทแอมเฟตามีนไปมอบให้จำเลยที่ 6 อีก จึงได้วางแผนจับกุม ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1ที่ 3 และที่ 4 นัดพบจำเลยที่ 2 ที่ร้าน ส. กุ้งเผา อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อจำเลยที่ 2 มาถึงจำเลยที่ 4นำถุงพลาสติกจำนวน 2 ถุง ไปใส่ไว้ในรถจำเลยที่ 2 ก่อนที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะแยกย้ายกันไปทำงานนายสมชายกับพวกได้เข้าจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทันที และพบว่าถุงพลาสติกจำนวน 2 ถุง มีผงเมทแอมเฟตามีนบรรจุอยู่น้ำหนักประมาณ10 กิโลกรัม หลังจากนั้นเจ้าพนักงานชุดดังกล่าวเข้าจับกุมจำเลยที่ 5 ได้ที่สวนนพคุณพร้อมเครื่องอัดเม็ดเมทแอมเฟตามีนและผงเมทแอมเฟตามีนมีน้ำหนักประมาณ 11 กิโลกรัม จับกุมจำเลยที่ 6 ได้ที่บ่อเลี้ยงปลาซึ่งจำเลยที่ 6 พักอาศัย พบผงเมทแอมเฟตามีนอยู่ในถุงพลาสติกน้ำหนักประมาณ 250 กรัมแคปซูลเปล่าสีฟ้าเขียวจำนวนหนึ่ง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมีการติดต่อประสานงานกันอย่างใกล้ชิดกรรมวิธีในการผลิตเมทแอมเฟตามีนมีหลายขั้นตอนตั้งแต่จัดหาสถานที่ จัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ตลอดจนสารเคมีต่าง ๆ รวมทั้งแรงงานในการผลิต ผู้เข้าร่วมในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ย่อมถือว่าเป็นตัวการที่ร่วมกันกระทำความผิดแล้วไม่จำเป็นที่ต้องเป็นผู้ดำเนินการเองทุกขั้นตอนจนสำเร็จ ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องเป็นผู้ลงมือปรุงหรืออัดเม็ดเมทแอมเฟตามีนด้วยตนเอง การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ถือว่าเป็นตัวการร่วมกัน ชั้นจับกุมชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และเป็นผู้เขียนบันทึกคำรับสารภาพไว้ด้วยตนเองตามเอกสารหมาย จ.25 เมื่อส่งของกลางทั้งหมดไปตรวจพิสูจน์ พบว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนมีน้ำหนักรวมทั้งหมด6,491 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 518.09 กรัม เป็นอีเฟดรีนน้ำหนักรวม 31,980 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 3,623.5กรัม ส่วนของกลางรายการที่ 11 ถึงที่ 14 ตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.46 ตรวจไม่พบสารเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ แต่สามารถนำไปใช้ในการผลิตสารดังกล่าวได้พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ผลิตเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนและร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6มีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนไว้ในครอบครอง เพื่อขายตามฟ้องที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 รับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนตลอดจนทำบันทึกคำให้การรับสารภาพโดยไม่สมัครใจ เนื่องจากถูกเจ้าพนักงานบังคับขู่เข็ญ และบ้านของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ได้อาศัยอยู่คนเดียวจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นหรือครอบครองของกลางที่ยึดได้นั้น เห็นว่าบันทึกคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.25มีข้อเท็จจริงและขั้นตอนในการกระทำผิดอย่างละเอียด ยากที่ผู้ไม่อยู่ในเหตุการณ์จะสร้างเรื่องขึ้นมาเอง ขณะที่จำเลยที่ 1นั่งเขียนบันทึกก็มีการถ่ายรูปไว้ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีการบังคับขู่เข็ญให้จำเลยที่ 1 รับสารภาพเป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อส่วนทีจำเลยที่ 1 อ้างว่าบ้านจำเลยที่ 1 มีคนอยู่กันหลายคน จึงไม่อาจรับฟังว่าของกลางที่เจ้าพนักงานยึดไปเป็นของจำเลยที่ 1 นั้น ก็ปรากฏว่าบ้านเลขที่ 99/197 ซึ่งตรวจค้นพบผงเมทแอมเฟตามีนมีน้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัมอุปกรณ์และหัวเชื้อเมทแอมเฟตามีนรวม 12 รายการ และบ้านเลขที่ 17/26 พบผงเคมีที่สามารถนำไปใช้ในการผลิตสารเสพติดได้รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ 5 รายการ เป็นบ้านของจำเลยที่ 1 ดังปรากฏหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.2 บุคคลอื่นหากอยู่ในบ้านก็เป็นเพียงผู้อาศัยสิ่งของผิดกฎหมายที่ตรวจค้นพบที่บ้านจำเลยที่ 1 ทั้งสองหลังมีจำนวนมากหลายรายการจำเลยที่ 1จะอ้างว่าไม่รู้เห็น ย่อมไม่มีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ศาลลงโทษในสถานเบาและลดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามนั้น เห็นว่า ของกลางที่ยึดได้ในคดีนี้มีจำนวนมาก พฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 มีลักษณะร้ายแรง แม้โจทก์จะนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนแต่จำเลยที่ 1 ก็ต่อสู้คดีว่าตนเองมิได้ให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ เนื่องจากถูกบังคับขู่เข็ญ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองลดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ลงหนึ่งในสี่ คงให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี นับว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อสุดท้ายว่าศาลชั้นต้นไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ได้ เพราะจำเลยที่ 1 พ้นมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ50 ปี พ.ศ. 2539 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวในมาตรา 4บัญญัติไว้ว่า ให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือซึ่งได้พ้นโทษไป โดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 โดยให้ถือว่าผู้นั้น มิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 มาตรา 6 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 8 และมาตรา 9 นับโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (3) ผู้ได้รับพักการลงโทษตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหารหรือได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ เนื่องจากได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ ซึ่งมิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งการพักการลงโทษ หรือเงื่อนไขการคุมประพฤติจากการได้ลดวันต้องโทษจำคุกและตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์พ.ศ. 2479 มาตรา 43 บัญญัติว่า นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการพักการลงโทษตามมาตรา 32(5)… และถูกปล่อยตัวไป ก่อนครบกำหนดโทษตามหมายศาลในขณะนั้น ต้องปฏิบัติตนโดยเคร่งครัดตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้สำหรับความประพฤติของตน ถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นข้อหนึ่งข้อใดนักโทษเด็ดขาดผู้นั้นอาจถูกจับมาอีกโดยมิต้องมีหมายจับหรือหมายจำคุกและนำกลับเข้าจำคุกต่อไปตามกำหนดโทษที่ยังเหลืออยู่… และกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479ข้อ 93 เงื่อนไขในระหว่างพักการลงโทษกำหนดดังต่อไปนี้ (1) ให้ละเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง… ข้อ 94เงื่อนไขละเว้นการกระทำนั้นมีดังต่อไปนี้ (ก) ละเว้นไม่กระทำผิดอาญาขึ้นอีก… การที่จำเลยที่ 1 มากระทำผิดอาญาคดีขึ้นอีกในระหว่างได้รับการพักการลงโทษจึงเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งการพักการลงโทษตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479มาตรา 43 กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา 58แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ข้อ 93(1) และ 94(ก)และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 มาตรา 6ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้ซึ่งพ้นโทษไปแล้ว ก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ มาตรา 4ศาลชั้นต้น ย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share