คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6877/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้อ 6 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดขั้นตอนวิธีการดำเนินคดีในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความอาญา ย่อมมีผลใช้บังคับทันทีหลังจากมีประกาศ เมื่อปรากฏว่ากฎหมายดังกล่าวประกาศใช้บังคับขณะคดีของจำเลยอยู่ในขั้นตอนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีอำนาจที่จะเลือกใช้ช่องทางตามประกาศดังกล่าวแก่คดีของจำเลยหรือไม่ก็ได้ เพราะเป็นทางเลือกที่เพิ่มเติมจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 ข้อ 8 ยังกำหนดว่า บรรดาบทบัญญัติใดของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้ให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน ดังนั้น การดำเนินการตามข้อ 6 ของประกาศดังกล่าวจึงมิได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แต่อย่างใด เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาเรื่องของจำเลยแล้วมีมติให้ส่งเรื่องกล่าวหาร้องเรียนจำเลยไปให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรห้างฉัตรดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป ย่อมเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจที่จะสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย
การยึดรถกระบะของกลางตลอดจนการคืนล้วนเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 85 วรรคสาม (เดิม), 131 ส่วนเรื่องการเก็บรักษา ดูแล หรือพิจารณาสั่งคืนของกลาง แม้ตามข้อบังคับหรือระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมิได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนโดยลำพังก็ตาม ก็หาทำให้อำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายหมดสิ้นไป จำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนเรียกรับเงินค่าตรวจสภาพรถกระบะของกลางโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 157 และ 201
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 201 ฐานเรียกรับเงินค่าตรวจสอบสภาพรถและฐานเรียกเงินในการดำเนินคดีเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานเรียกเงินในการดำเนินคดีเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการ จำคุก 5 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 201 เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและโดยมิชอบ กระทงหนึ่ง และลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนเรียกรับเงินโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการตามหน้าที่ในตำแหน่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 อีกกระทงหนึ่ง โทษและนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า ตามวันและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรห้างฉัตรในคดีอาญาที่ 187/2548 ระหว่างนายสมิท ผู้กล่าวหา นางอรัญญา ผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีนี้กับพวก ผู้ต้องหา ฐานร่วมกันบุกรุกและลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ มีการยึดรถกระบะหมายเลขทะเบียน บธ 4117 ลำปาง เป็นของกลาง ซึ่งได้คืนรถกระบะของกลางแก่เจ้าของแล้ว และตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้ให้อำนาจในการเรียกเงินค่าตรวจสภาพรถ ต่อมาผู้เสียหายถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว และให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผู้เสียหายมีความผิด ให้ลงโทษจำคุก แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ขณะจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้น มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ใช้บังคับ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยมาตรา 97 บัญญัติให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องคดี และตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 31 ข้อ 6 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.อาจส่งเรื่องที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปก็ได้นั้น เพิ่งประกาศบังคับใช้ขณะคดีของจำเลยอยู่ในขั้นตอนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กล่าวคือ เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับเรื่องแล้วทำการสอบสวน ถ้าเห็นว่าสมควรสั่งฟ้องจำเลยจะต้องส่งความเห็นไปให้อัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งฟ้องจำเลย แต่พนักงานสอบสวนกลับส่งเรื่องไปให้โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้อ 6 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดขั้นตอนวิธีการดำเนินคดีในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความอาญา ย่อมมีผลใช้บังคับทันทีหลังจากมีประกาศ เมื่อปรากฏว่ากฎหมายดังกล่าวประกาศใช้บังคับขณะคดีของจำเลยอยู่ในขั้นตอนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจที่จะเลือกใช้ช่องทางตามประกาศดังกล่าวแก่คดีของจำเลยหรือไม่ก็ได้ เพราะเป็นทางเลือกที่เพิ่มเติมจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 ข้อ 8 ยังกำหนดว่า บรรดาบทบัญญัติใดของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้ให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน ดังนั้น การดำเนินการตามข้อ 6 ของประกาศดังกล่าวจึงมิได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แต่อย่างใด เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเรื่องของจำเลยแล้วมีมติให้ส่งเรื่องกล่าวหาร้องเรียนจำเลยไปให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรห้างฉัตรดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป ย่อมเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจที่จะสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า หากจำเลยเรียกรับเงินค่าตรวจสภาพรถยนต์โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 บัญญัติให้อำนาจพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาและมาตรา 85 วรรคสาม บัญญัติว่าสิ่งของใดที่ยึดไว้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่นซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ดังนั้นการยึดรถกระบะของกลางตลอดจนการคืนล้วนเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนทั้งสิ้น ส่วนเรื่องการเก็บรักษา ดูแล หรือพิจารณาสั่งคืนของกลาง แม้ตามข้อบังคับหรือระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมิได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนโดยลำพังก็ตาม ก็หาทำให้อำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้นหมดสิ้นไป หากจำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนเรียกรับเงินค่าตรวจสภาพรถกระบะของกลางโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share