คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 783/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพต่อสำนักประกันสังคมจังหวัด เมื่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดมีคำสั่งว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทนเกินหนึ่งปี จึงไม่มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ โจทก์ก็อุทธรณ์ต่อจำเลยทั้งเก้าซึ่งเป็นคณะกรรมการอุทธรณ์ เมื่อจำเลยทั้งเก้ามีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ดังนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ส่วนที่โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกินหนึ่งปี โจทก์จะยังมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคสอง
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่าหากผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนไม่ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในเวลาดังกล่าว จะมีผลทำให้สิทธิที่ได้รับประโยชน์ทดแทนระงับสิ้นไป จึงเป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนโดยเร็วเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิ ซึ่งต่างกับกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนไม่มารับประโยชน์ทดแทนภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน ซึ่งมาตรา 56 วรรคสอง บัญญัติให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุน ดังนั้น แม้โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมภายในหนึ่งปีก็ไม่ถูกตัดสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นคณะกรรมการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2508 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2545 โจทก์เป็นลูกจ้างธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) และเป็นผู้ประกันตน โดยได้จ่ายเงินสมทบแก่กองทุนประกันสังคมครบถ้วนตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์ได้รับหนังสือจากสำนักงานประกันสังคมที่ รง 0624/19153 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 แจ้งว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับเงินประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ และให้โจทก์ยื่นเรื่องภายในหนึ่งปี โจทก์จึงยื่นคำขอรับประโยชน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในวันเดียวกัน แต่พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งปฏิเสธการจ่ายประโยชน์ทดแทนดังกล่าวแก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกินหนึ่งปีโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นกรรมการ ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2546 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์โดยจำเลยทั้งเก้ามีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์มิได้ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพในหนึ่งปีนับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 จึงไม่มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนตามที่ขอ โจทก์เห็นคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกำจัดสิทธิการรับประโยชน์ทดแทนของโจทก์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งเก้า และให้จำเลยทั้งเก้ามีมติให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพให้โจทก์หากจำเลยทั้งเก้าไม่ดำเนินการดังกล่าว ให้ถือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งเก้าสั่งให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนให้โจทก์
จำเลยทั้งเก้าให้การว่า โจทก์เคยทำงานเป็นลูกจ้างของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และเป็นผู้ประกันตนโดยจ่ายเงินสมทบอันก่อให้เกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 โจทก์เริ่มจ่ายเงินสมทบดังกล่าวตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2545 รวมเป็นเวลา 39 เดือน โจทก์สิ้นสภาพเป็นลูกจ้างโดยลาออกจากงานเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ขณะที่โจทก์มีอายุ 57 ปี และส่งสมทบไม่ครบ 180 เดือน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมประเภทบำเหน็จชราภาพ ตามมาตรา 54 (6) ประกอบมาตรา 77 ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งโจทก์จะต้องยื่นคำขอรับเงินบำเหน็จชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 56 คือต้องยื่นคำขอภายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2546 สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 6 กรุงเทพมหานคร เห็นว่าใกล้จะพ้นกำหนดเวลาที่โจทก์มีสิทธิยื่นคำขอรับบำเหน็จชราภาพแล้ว แต่โจทก์ยังเพิกเฉยไม่ยื่นคำขอ จึงได้แจ้งให้โจทก์ทราบ ตามหนังสือสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 6 ที่ รง 0624/19153 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเงินบำเหน็จชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ต แต่ยื่นพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน จึงขาดอายุความตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 สำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ตจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ และคณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว เห็นว่าโจทก์ยื่นคำขอรับเงินบำเหน็จชราภาพพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนจึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนเงินบำเหน็จชราภาพตามที่ขอ และมีมติให้ยกอุทธรณ์ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ตได้ส่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งเก้าและคำสั่งของงานประกันสังคม ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งเก้าเป็นคณะกรรมการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2508 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2545 โจทก์เป็นลูกจ้างของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เริ่มจ่ายเงินสมทบตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2545 รวมเป็นเวลา 39 เดือน โจทก์สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างโดยการลาออกจากงานดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ในขณะนั้นโจทก์มีอายุ 57 ปี และส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน ต่อมาสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 6 ส่งหนังสื่อที่ รง 0624/19153 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 แจ้งให้โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ตในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 และได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากสำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ตในวันเดียวกันนั้นว่าโจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกินหนึ่งปี จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ จำเลยทั้งเก้าซึ่งเป็นคณะกรรมการอุทธรณ์มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ และสักนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ตมีหนังสือฉบับลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 แจ้งผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบแล้ววินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนนั้น มิใช่อายุความที่จะตัดสิทธิของผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนที่จะใช้สิทธิยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมตามสิทธิของตน คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งเก้าซึ่งเป็นคณะกรรมการการอุทธรณ์ที่อ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเนื่องจากยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนพ้นกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน จึงไม่ชอบ เห็นสมควรให้เพิกถอนเสีย และเนื่องจากคำฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมซึ่งยังมีผลบังคับได้มาด้วย เมื่อเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งเก้าตามคำขอของโจทก์แล้วเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความเห็นสมควรให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับต่อไปส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าให้มีมติให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดในกรณีชราภาพให้โจทก์หากจำเลยทั้งเก้าไม่ดำเนินการดังกล่าว ให้ถือคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งเก้าให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนให้โจทก์นั้น เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งเก้าและคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมแล้ว สำนักงานประกันสังคมจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่โจทก์ตามที่โจกท์มีสิทธิจะได้รับต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่โจทก์ขออีก
มีปัญหาที่ต้องวินินฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้าข้อแรกว่า การที่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น เป็นกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานบัญญัติกำหนดขั้นตอนและวิธีการให้โจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติในการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในชั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนนำคดีมาสู่ศาลแรงงาน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกินหนึ่งปีแล้ว จึงเป็นการไม่ปฎิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานบัญญัติไว้ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาปรากฏว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ต เมื่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทนเกินหนึ่งปี จึงไม่มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ โจทก์ก็อุทธรร์ต่อจำเลยทั้งเก้าซึ่งเป็นคณะกรรมการอุทธรณ์ เมื่อจำเลยทั้งเก้ามีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ดังนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ส่วนที่โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกินหนึ่งปี โจทก์จะยังมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่การปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคสอง ดังที่จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์ โจทก์จึงฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งเก้าฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้าข้อต่อไปมีว่า คำวินิจฉัยของศาลแรงงานที่วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น มิใช้อายุความที่จะตัดสิทธิของผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนที่จะใช้สิทธิยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมตามสิทธิของตน และเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งเก้าซึ่งเป็นคณะกรรมการอุทธรณ์นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นใดเห็นว่าตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 54 และประสงค์ขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น ให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนด ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น และให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายพิจารณาสั่งการโดยเร็ว” และวรรรคสองบัญญัติว่า “ประโยชน์ทดแทนตามวรรคหนึ่งที่เป็นตัวเงิน ถ้าผู้ประกันตนหรือบุคคลซึ่งมีสิทธิไม่มารับภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน ให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุน” ดังนี้ แม้มาตรา 56 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนและประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติว่าหากผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนไม่ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในเวลาดังกล่าว จะมีผลทำให้สิทธิที่ได้รับประโยชน์ทดแทนระงับสิ้นไป ระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีดังกล่าวจึงเป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนโดยเร็วเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญติตัดสิทธิแต่อย่างใด ซึ่งต่างกับกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนไม่มารับประโยชน์ทดแทนภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน ซึ่งมาตรา 56 วรรคสอง บัญญัติให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุนดังนั้น แม้โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมภายในหนึ่งปีก็ไม่ถูกตัดสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางดังกล่าวข้างต้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน.

Share