คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7826/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บ. ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าที่ขนำที่เกิดเหตุมักจะมีวัยรุ่นมั่วสุมต้มและเสพน้ำต้มพืชกระท่อมเป็นประจำ บ. กับพวกรวม 6 คน จึงนำกำลังไปยังที่เกิดเหตุ พบจำเลยนั่งอยู่ปลายเตียงกำลังต้มใบพืชกระท่อมจึงได้ทำการตรวจค้น พบกระเป๋าสะพาย 1 ใบ วางอยู่บนชั้นวางของในขนำข้างประตูภายในมีอาวุธปืนพกลูกซองเดี่ยวขนาด 12 ไม่มีหมายเลขทะเบียน และกระสุนปืนลูกซองขนาด 12 จำนวน 3 นัด การที่พบจำเลยอยู่ในขนำที่เกิดเหตุเพียงคนเดียวและตรวจพบอาวุธปืนของกลางดังกล่าวอาจจะแสดงให้เห็นว่าจำเลยอาจจะมีส่วนร่วมหรือเป็นข้อพิรุธสงสัยที่แสดงว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดแต่ก็ไม่อาจรับฟังยืนยันเชิงตรรกะว่าจำเลยได้กระทำผิดนั้นจริง ในคดีอาญาโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความชัดตามข้อกล่าวอ้าง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 174 แต่พยานโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยมีอาวุธปืนและลูกกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
สำหรับความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท แม้ศาลไม่จำต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพ แต่เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่เพียงต้มใบพืชกระท่อมแล้วกรองเอาน้ำที่ได้จากการต้ม 1 ถุง ปริมาตร 700 มิลลิลิตร ถือว่าเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการเสพและมีปริมาณเพียงเล็กน้อย การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้มาด้วยนั้น ไม่ชอบ และแม้จำเลยจะไม่อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาดังกล่าว แต่ถือเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 75, 76, 100/1, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลางที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้และขอให้นับโทษจำคุกหรือระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยต่อจากโทษจำคุกหรือระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 36/2558 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาผลิตและมีพืชกระท่อมอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียว กับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษหรือระยะเวลาการฝึกอบรมต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 75 วรรคสอง, 76 วรรคสอง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91)พิเคราะห์รายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาแล้ว เห็นว่า ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 16 ปีเศษ ประกอบกับพฤติการณ์การกระทำความผิดไม่ใช่กรณีร้ายแรง ความประพฤติด้านอื่นของจำเลยไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรงและการลงโทษจำเลยไปเสียทีเดียวจะไม่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขจำเลย สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นคนดี อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 144 ให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้ควบคุมตัวจำเลยไว้ในสถานพินิจ 6 เดือน เพื่อการบำบัดอาการติดยาเสพติดและเรียนหนังสือหรือฝึกวิชาชีพในระยะสั้น ๆ หลังจากนั้นให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี ห้ามจำเลยคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดีและห้ามยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ริบอาวุธปืนและหม้อหุงข้าวของกลาง ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำคุกหรือระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยต่อจากโทษจำคุกหรือระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 36/2558 ของศาลชั้นต้น นั้น เมื่อคดีนี้ศาลให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้ จึงไม่อาจมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ระยะเวลารอการกำหนดโทษ เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้โดยที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านว่า ตามวันเวลา และสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง ร้อยตำรวจเอกเบญจพล รองสารวัตรป้องกันและปราบปรามสถานีตำรวจภูธรสะเดากับพวกจับกุมจำเลยขณะกำลังต้มน้ำพืชกระท่อมอยู่ในขนำที่เกิดเหตุและพบอาวุธปืนพกลูกซองขนาด 12 จำนวน 1 กระบอก และกระสุนปืนลูกซอง 3 นัด อยู่ในกระเป๋าสะพายวางอยู่บนชั้นวางของ มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกเบญจพล และดาบตำรวจสมพงศ์ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรสะเดา ผู้ร่วมจับกุมจำเลยเบิกความทำนองเดียวกันว่า ในวันเกิดเหตุร้อยตำรวจเอกเบญจพลรับแจ้งจากพลเมืองดีว่าที่ขนำที่เกิดเหตุมักจะมีกลุ่มวัยรุ่นมามั่วสุมต้มและเสพน้ำต้มพืชกระท่อมเป็นประจำ และขณะนี้กำลังมั่วสุมกันอยู่ ร้อยตำรวจเอกเบญจพลรายงานผู้บังคับบัญชาแล้วนำกำลังเจ้าพนักงานตำรวจพร้อมทั้งดาบตำรวจสมพงศ์ รวม 6 คน ใช้รถยนต์ 2 คัน พร้อมพลเมืองดีที่มาแจ้งเหตุเดินทางไปยังขนำที่เกิดเหตุ เมื่อไปถึงพบเห็นจำเลยนั่งอยู่ปลายเตียงกำลังต้มน้ำพืชกระท่อมจึงได้ทำการตรวจค้นและได้พบกระเป๋าสะพาย 1 ใบ วางอยู่บนชั้นวางของในขนำข้างประตูภายในกระเป๋ามีอาวุธปืนพกลูกซองเดี่ยวขนาด 12 ไม่มีหมายเลขทะเบียนใส่อยู่ในซองพกและกระสุนปืนลูกซองขนาด 12 จำนวน 3 นัด จึงยึดเป็นของกลาง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในขณะที่ร้อยตำรวจเอกเบญจพลได้รับแจ้งนั้นปรากฏความว่าที่ขนำที่เกิดเหตุมักจะมีกลุ่มวัยรุ่นมามั่วสุมต้มและเสพน้ำต้มพืชกระท่อมเป็นประจำและในขณะนั้นกำลังมั่วสุมกันอยู่ โดยพลเมืองดีที่มาแจ้งเหตุก็ได้เดินทางไปยังขนำที่เกิดเหตุด้วย แต่เมื่อเดินทางไปถึงกลับพบจำเลยเพียงคนเดียวซึ่งจำเลยได้ต่อสู้คดีมาโดยตลอดทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลาง ยังมีคนอื่นซึ่งเป็นเพื่อนของจำเลยพาจำเลยมาที่ขนำที่เกิดเหตุเพื่อต้มน้ำพืชกระท่อมเท่านั้น ทั้งก่อนหน้าที่เจ้าพนักงานตำรวจจะเดินทางถึงที่เกิดเหตุเพื่อนของจำเลยได้ออกจากที่เกิดเหตุไปก่อน อันสอดคล้องกับพยานหลักฐานของโจทก์ที่ว่ามีกลุ่มวัยรุ่นหลายคนอยู่ที่ขนำที่เกิดเหตุนั้นในช่วงที่ร้อยตำรวจเอกเบญจพลได้รับแจ้ง การที่พบจำเลยอยู่ในขนำที่เกิดเหตุเพียงคนเดียวและตรวจพบอาวุธปืนของกลางดังกล่าวอาจจะแสดงให้เห็นถึงว่าจำเลยอาจจะมีส่วนร่วมหรือเป็นข้อพิรุธสงสัยที่แสดงว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดแต่ก็ไม่อาจรับฟังยืนยันในเชิงตรรกะว่าจำเลยได้กระทำความผิดนั้นจริง ในคดีอาญาโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบพยานให้ได้ความตามข้อกล่าวอ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 ทั้งต้องนำสืบข้อเท็จจริงให้ฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจริง ซึ่งพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบได้ความดังกล่าวข้างต้นยังมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องในฐานความผิดนี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท แม้จำเลยให้การรับสารภาพและศาลไม่จำต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพแต่เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ เมื่อพฤติการณ์ของจำเลยเป็นเพียงการต้มใบพืชกระท่อมแล้วกรองเอาน้ำที่ได้จากการต้ม 1 ถุง ปริมาตร 700 มิลลิลิตร ซึ่งถือว่าเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการเสพและมีปริมาณเพียงเล็กน้อย การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้มาด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และแม้จำเลยจะไม่ได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาดังกล่าว แต่ถือเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และสำหรับการที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมที่สถานพินิจเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อบำบัดอาการติดยาเสพติดและให้จำเลยเรียนหนังสือหรือฝึกวิชาชีพในระยะสั้น ๆ แล้วคุมประพฤติจำเลยมีกำหนด 1 ปี ห้ามจำเลยคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี และห้ามยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษนั้น ศาลฎีกา เห็นว่า ยังไม่เป็นการเหมาะสมเห็นควรแก้ไขเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเสียใหม่ให้เหมาะสม โดยอาศัยอำนาจประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคสาม (1) กำหนดให้นักจิตวิทยาประจำศาลชั้นต้นประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามสภาพปัญหาเพื่อป้องกันมิให้จำเลยกระทำความผิดขึ้นอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) และให้กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยเสียใหม่ โดยให้นักจิตวิทยาประจำศาลชั้นต้น ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประเมินสภาพปัญหาและจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูให้ตรงกับสภาพปัญหาของจำเลยและครอบครัวให้ปฏิบัติภายในกำหนดระยะเวลาที่รอการกำหนดโทษและเสนอต่อศาลชั้นต้นพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อมีการปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้นักจิตวิทยารายงานผลการปฏิบัติตามแผนให้ศาลชั้นต้นทราบตามระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด หากจำเลยหรือบิดาหรือมารดาไม่ปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ให้ศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 137 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share