แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การจัดให้มีคณะกรรมการแพทย์ขึ้นวินิจฉัยอาการป่วยของจำเลยร่วมในคดีนี้เป็นไปโดยความเห็นชอบของจำเลยร่วมและคู่ความฝ่ายอื่นทุกฝ่าย ทั้งคู่ความทุกฝ่ายยังเห็นชอบให้ศาลแรงงานมีหนังสือเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามรายชื่อที่ได้รับแจ้งจากกองอาชีวอนามัย กรมอนามัย รวม 6 คน ร่วมเป็นคณะกรรมการแพทย์ และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายศาลแรงงานยังได้เชิญแพทย์หญิง อ. แพทย์หญิง ว. ผู้อำนายการกองอาชีวอนามัย กับผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ ย. ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทวิโรฒ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการแพทย์ดังกล่าวอีกด้วย นอกจากนี้เมื่อพยานฝ่ายลูกจ้างแถลงว่าเพื่อความสบายใจของแพทย์หญิง อ. จึงขอเพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวแวดล้อม 3 คนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการแพทย์ ศาลแรงงานก็ดำเนินการให้ตามความประสงค์เมื่อการจัดให้มีคณะกรรมการแพทย์ขึ้นตรวจอาการป่วยของจำเลยร่วมได้เป็นไปตามความต้องการและความพอใจของจำเลยร่วมและคู่ความอื่นทุกฝ่ายทั้งสิ้น และเมื่อได้รายชื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาแล้วศาลแรงงานก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแรงงานเห็นสมควรให้มาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 30 ให้อำนาจไว้ดังนี้ กระบวนพิจารณาของศาลแรงงานดังกล่าวข้างต้นจึงชอบแล้ว และการที่ศาลแรงงานดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ดังกล่าวกรณีให้เพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวแวดล้อมเข้าเป็นคณะกรรมการด้วยตามคำแถลงของพยานฝ่ายลูกจ้างก็ดี รวมทั้งการจำหน่ายคดีชั่วคราวในระหว่างรอผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการแพทย์ที่จะเสนอต่อศาลแรงงานกลางก็ดี เป็นเรื่องที่ศาลแรงงานมีอำนาจดำเนินการได้ทั้งสิ้น กระบวนพิจารณาของศาลแรงงานทั้งหมดดังกล่าวมาจึงชอบแล้วกรณีไม่มีเหตุเพิกถอน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า สำนักงานกองทุนเงินทดแทนเป็นหน่วยงานในสังกัดของจำเลยมีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยเงินทดแทนรวม 29 ฉบับ ว่า จำเลยร่วมทั้งหมดซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานจึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2537 สำนักงานกองทุนเงินทดแทนได้มีหนังสือที่ รส 0711/72568 และที่ รส 0711/72569 แจ้งว่าคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ตามข้อ 23 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบฯ โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวยังคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกล่าวคือ โจทก์เป็นนายจ้างมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเพื่อให้วินิจฉัยว่าลูกจ้างไม่ได้เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน เพราะโจทก์มีส่วนได้เสียในเงินกองทุนเงินทดแทนที่จ่ายให้แก่จำเลยร่วมทั้งหมด ซึ่งเป็นเงินที่โจทก์มีหน้าที่ส่งเป็นเงินสมทบประจำปีเข้ากองทุนเงินทดแทน นอกจากนี้ที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมทั้งหมดป่วยเป็นโรคปอดชนิดบิสชิโนซีสนั้นเป็นโรคที่ยังไม่มีการยืนยันว่าเกิดจากฝุ่นฝ้าย ทั้งโจทก์ได้จัดให้มีการตรวจสอบสุขภาพลูกจ้างทุกคนเป็นประจำปี ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยร่วมทั้งหมดมีอาการผิดปกติทางปอด อันเป็นอาการของโรคบิสชิโนซีส โจทก์ได้จัดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (ผ้าปิดจมูก) ให้แก่ลูกจ้างทุกคน สถานที่ทำงานเป็นห้องโถงโล่ง มีการควบคุมความชื้น และมีอุปกรณ์ในการเก็บฝุ่นละออง มีเครื่องดูดฝุ่นฝ้ายลงสู่อุโมงค์ใต้พื้นทางเดินและแผ่นกรองด้านผนัง จัดให้มีแพทย์และพยาบาลคอยให้บริการคำแนะนำแก่ลูกจ้างในการทำงานทุกวัน ส่งเสริมให้ออกกำลังกายตลอดทั้งปี อีกทั้งสำนักงานกองทุนเงินทดแทนไม่ได้จัดส่งตัวจำเลยร่วมทั้งหมดไปตรวจรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งหนึ่ง ไม่มีการพิจารณาโดยละเอียดถี่ถ้วนไม่มีประวัติการรักษาลูกจ้างในโรงพยาบาลแห่งใดประกอบการพิจารณา คงมีแต่เพียงใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพมหานคร เพียงอย่างเดียวในการใช้พิจารณาวินิจฉัย ด้วยเหตุผลดังกล่าวโจทก์จึงไม่เชื่อว่าจำเลยร่วมทั้งยี่สิบเก้าป่วยเป็นโรคบิสซิโนซีส หากป่วยจริงก็ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานในโรงงานของโจทก์ แต่เกิดขึ้นเนื่องจากความบกพร่องในร่างกายของจำเลยร่วมเองที่มีอาการผิดปกติ เช่น เคยป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับปอดมาก่อน ดังนั้นคำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและมติคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนรวม 29 ฉบับ ตามหนังสือที่ รส 0711/33127 รส 0711/33148 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2537 ที่ รส 0711/33356 รส 0711/33358 รส 0711/33425 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2537 ที่ รส 0711/33636 รส 0711/33688 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2537 ที่ รส 0711/33784 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2537 ที่ รส 0711/34696รส 0711/34694 รส 0711/34697 รส 0711/34695 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2537ที่ รส 0711/34948 รส 0711/35188 รส 0711/35750 รส 0711/36570 รส 0711/36565 รส 0711/36599 รส 0711/36598 รส 0711/36698 รส 0711/36942 รส 0711/37106 รส 0711/37690 รส 0711/37541 รส 0711/37540 และให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่พิจารณาอุทธรณ์ตามหนังสือที่ รส 0711/72568และที่ รส 0711/72569 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2537
จำเลยให้การว่า คำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและมติของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนท้ายฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยร่วมทั้งยี่สิบเก้ายื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ชั้นพิจารณา ศาลแรงงานกลางได้สอบถามแพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐผู้อำนวยการอาชีวอนามัย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาแนวทางพิจารณาคดีเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการทำงานในคดีนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ได้ความว่ากองอาชีวอนามัยกำลังออกกฎเกณฑ์แนววินิจฉัยโรคนี้อยู่เพื่อให้แพทย์ถือปฏิบัติในการตรวจรักษาคนไข้และแจ้งว่ากองอาชีวอนามัยมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้หลายคนที่สามารถให้การวินิจฉัยโรคดังกล่าวได้ศาลแรงงานกลางเห็นว่า สมควรนำกฎเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้เป็นแนวทางพิจารณาคดีทำนองนี้ โดยศาลแรงงานกลางจะตั้งคณะกรรมการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ซึ่งมีแพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล รวมอยู่ด้วยมาวินิจฉัยลูกจ้างที่อ้างว่าป่วยเป็นโรคนี้ โดยจะตั้งตามรายชื่อแพทย์ที่กองอาชีวอนามัยจัดส่งมา และถือเอาผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการแพทย์เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ในการตัดสินปัญหาว่าลูกจ้างป่วยด้วยโรคดังกล่าวหรือไม่ หากลูกจ้างผู้ใดไม่ยอมไปรับการตรวจให้ถือว่าใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และสละสิทธิที่เรียกร้องไว้แล้ว ทนายโจทก์ทนายจำเลยและทนายจำเลยร่วมทั้งหมดต่างเห็นชอบด้วย ส่วนหลักเกณฑ์แนวการตรวจวินิจฉัยตามเอกสารหมาย ศ.1 ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ที่แพทยสภาให้การรับรองนั้นแพทย์หญิงอรพรรณ์ก็ได้ลงชื่อร่วมในการวางหลักเกณฑ์ด้วย สำหรับการติดต่อแจ้งให้ลูกจ้างรวมทั้งจำเลยร่วมทั้งหมดไปรับการตรวจจากคณะกรรมการแพทย์นางธนพรเมธาวิกูล เลขานุการคณะกรรมการแพทย์ได้ติดต่อประสานงานแจ้งให้กลุ่มลูกจ้างทราบถึง 3 ครั้ง ทั้งโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดเงื่อนไขและข้อปฏิบัติก่อนเข้ารับการตรวจวิเคราะห์และแจ้งให้ลูกจ้างทราบวันนัดหมายโดยจัดพาหนะรับส่งให้ไปตรวจและถือเป็นวันทำงานของลูกจ้างคนนั้น ทั้งได้จ่ายค่าจ้างและค่าใช้จ่ายในการตรวจวินิจฉัยให้ด้วย ลูกจ้างทราบแล้วแต่ส่วนใหญ่ไม่ยินยอมไปรับการตรวจ คงไปรับการตรวจเฉพาะจำเลยร่วมที่ 22 และจำเลยร่วมที่ 28
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย และจำเลยร่วมทั้งหมด แล้วพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนที่เกี่ยวข้องกับจำเลยร่วมทั้งยี่สิบเก้า ยกเว้นเฉพาะคำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมที่ 28 คงให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยเดิม กับให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามหนังสือที่ รส 0711/72568 และที่ รส 0711/72569 ลงวันที่13 ธันวาคม 2537 ด้วย
จำเลยร่วมที่ 1 ถึงจำเลยร่วมที่ 29 ยกเว้นจำเลยร่วมที่ 28 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 27 และจำเลยร่วมที่29 อุทธรณ์ข้อแรกว่า การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ขึ้นวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมคนใดป่วยเป็นโรคบิสซิโนซีสหรือไม่ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 25 เมษายน 2538 และวันที่ 10 พฤศจิกายน 2538 เป็นการกระทำโดยไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจไว้ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า การจัดให้มีคณะกรรมการแพทย์ขึ้นวินิจฉัยอาการป่วยของจำเลยร่วมในคดีนี้ก็เป็นไปโดยความเห็นชอบของจำเลยร่วมและคู่ความฝ่ายอื่นทุกฝ่าย ทั้งคู่ความทุกฝ่ายยังเห็นชอบให้ศาลแรงงานกลางมีหนังสือเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามรายชื่อที่ได้รับแจ้งจากกองอาชีวอนามัย กรมอนามัย รวม 6 คน ร่วมเป็นคณะกรรมการแพทย์และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ศาลแรงงานกลางยังได้เชิญแพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล แพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ ผู้อำนวยการกองอาชีวอนามัย กับผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์โยธิน เบญจวัง ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการแพทย์ดังกล่าวอีกด้วยนอกจากนี้เมื่อพยานฝ่ายลูกจ้างแถลงว่าเพื่อความสบายใจของแพทย์หญิงอรพรรณ์ขอเพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวแวดล้อม3 คน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการแพทย์ศาลแรงงานกลางก็ดำเนินการให้ตามความประสงค์ จึงเห็นได้ว่าการจัดให้มีคณะกรรมการแพทย์ขึ้นตรวจอาการป่วยของจำเลยร่วมล้วนเป็นไปตามความต้องการและความพอใจของจำเลยร่วมและคู่ความอื่นทุกฝ่ายทั้งสิ้น ครั้นได้รายชื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาแล้วศาลแรงงานกลางก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวขึ้นซึ่งถือว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแรงงานกลางเห็นสมควรให้มาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 30 ให้อำนาจไว้ ดังนี้ต้องถือว่ากระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางตามรายงานกระบวนพิจารณาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวข้างต้นชอบแล้ว
จำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 27 และจำเลยร่วมที่ 29 อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า กระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 25 ธันวาคม 2538กรณีแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้เพิกถอนนั้น เห็นว่า กระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์เพื่อตรวจอาการป่วยของจำเลยร่วมตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 25 เมษายน 2538 และวันที่ 10 พฤศจิกายน 2538 เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายดังวินิจฉัยแล้วข้างต้น การที่ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่25 ธันวาคม 2538 ในเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ดังกล่าวกรณีให้เพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวแวดล้อมเข้าเป็นคณะกรรมการด้วยตามคำแถลงของพยานฝ่ายลูกจ้างก็ดี รวมทั้งการจำหน่ายคดีชั่วคราวในระหว่างรอผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการแพทย์ที่จะเสนอต่อศาลแรงงานกลางก็ดี เป็นเรื่องที่ศาลแรงงานกลางมีอำนาจดำเนินการได้ทั้งสิ้น กระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางดังกล่าวชอบแล้วไม่มีเหตุเพิกถอน
พิพากษายืน