คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7823/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 1 จะเปิดทางภาระจำยอมภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2533 ดังนี้ โจทก์ทั้งสี่จะขอบังคับคดีในส่วนนี้ได้หลังวันที่ 31 สิงหาคม 2533 ไปแล้ว กำหนดเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 ย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันที่โจทก์ทั้งสี่อาจขอดำเนินการบังคับคดีได้ คือวันที่ 1 กันยายน 2533 เป็นต้นไป โจทก์ทั้งสี่ยื่นคำขอดำเนินการบังคับคดีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิขอได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเปิดทางภารจำยอมในที่ดินของจำเลยที่ 1 เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม2532 ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 แล้วในวันเดียวกันโจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมเปิดทางภารจำยอม ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2533 ให้เฉพาะโจทก์ทั้งสี่และบริวารใช้ศาลพิพากษาตามยอมในวันเดียวกันพร้อมออกคำบังคับ ต่อมาโจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 1 ไม่เปิดทางภาระจำยอมตามคำพิพากษา ผลที่สุดศาลออกหมายบังคับคดีต่อมาปรากฏตามหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า โจทก์ยื่นคำขอดำเนินการบังคับคดีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2542 ซึ่งพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา

ศาลชั้นต้นสั่งว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271ผู้ชนะคดีชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2532 โจทก์ขอบังคับคดีวันที่ 12มีนาคม 2542 เกินกำหนด 10 ปีแล้วไม่ได้

โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 1 จะเปิดทางภารจำยอมภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2533 ดังนี้แสดงว่า โจทก์ทั้งสี่จะขอบังคับคดีในส่วนนี้ได้ หลังวันที่ 31 สิงหาคม 2533 ไปแล้ว กำหนดเวลา 10 ปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันที่โจทก์ทั้งสี่อาจขอดำเนินการบังคับคดีได้ คือวันที่ 1 กันยายน 2533 เป็นต้นไปโจทก์ทั้งสี่ยื่นคำขอดำเนินการบังคับคดีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2542 ยังไม่เกิน10 ปี โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิขอได้ คำสั่งศาลชั้นต้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามขอ

Share