คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7821/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยมิได้กำหนดเวลาสิ้นสุดของสัญญาไว้ และจำเลยได้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมาโดยตลอด จำเลยใช้เช็คเบิกถอนเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2539 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่ามีการเดินสะพัดทางบัญชีอีก คงมีแต่รายการที่โจทก์นำเงินดอกเบี้ยที่ค้างชำระของแต่ละเดือนทบเข้ากับต้นเงินกลายเป็นเงินเบิกเกินบัญชีที่จำเลยจะต้องชำระในเดือนถัดไป กรณีเช่นนี้ สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวจะสิ้นสุดลงต่อเมื่อคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญาต่อกันหรือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้หักทอนบัญชี และให้ชำระหนี้ที่มีต่อกันแล้ว และสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องจำเลยให้ชำระหนี้คงเหลือ อันเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 856 และ 859 ตราบใดที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดยังมิได้เลิกกันโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนกว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะเลิกกันเมื่อปรากฏว่า วันครบกำหนดที่โจทก์เรียกให้ชำระหนี้ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาของโจทก์คือวันที่ 30 มิถุนายน 2541 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยได้ถึงวันดังกล่าว ซึ่งเป็นวันที่บัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง
การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 25 ตั้งแต่ถัดจากวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง โดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยดังกล่าวมาก่อนหน้านี้ การปรับดอกเบี้ยไปคิดในอัตราร้อยละ 25 เป็นการที่โจทก์อาศัยประกาศเรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อ อันเป็นการคิดดอกเบี้ยในสินเชื่อที่ผิดเงื่อนไขจึงเป็นการที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้คิดสูงขึ้นหลังจากที่ได้บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับจำเลยแล้ว ดังนี้ ดอกเบี้ยร้อยละ 25จึงเป็นเบี้ยปรับ
ตามสัญญาค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมระบุวงเงินไว้จำนวน3,000,000 บาท แม้จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมไปจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน ทั้งการค้ำประกันนี้ยังคลุมถึงหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้แก่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการฟ้องร้องบังคับคดีทั้งสิ้น ก็มีความหมายเพียงว่าผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ของผู้ค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688,689 และ 690 ขึ้นต่อสู้ได้เท่านั้น ส่วนที่ระบุต่อไปว่า ผู้ค้ำประกันยินยอมรับผิดชอบและค้ำประกันแม้ว่าหนี้ประธานรวมกับหนี้อุปกรณ์แล้วจะเกินกว่าวงเงินค้ำประกันตามสัญญานี้ก็หาได้หมายความถึงว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดในวงเงินต้นที่ค้ำประกันเกินกว่าจำนวน 3,000,000 บาท ไม่ เพียงแต่ถ้ารวมดอกเบี้ยแล้วก็ต้องรับผิดเกินกว่าจำนวนดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน4,687,810.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ของต้นเงิน4,353,819.25 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ขอให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินน.ส.3 ก. เลขที่ 10 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 3,038,815.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 10พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 บังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2539 จำเลยที่ 1ได้ขอเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ ตกลงจะปฏิบัติตามประเพณีและวิธีการค้าของโจทก์เกี่ยวกับบัญชีเดินสะพัดโดยใช้เช็คในการเบิกถอนเงินจากบัญชี ต่อมาวันที่ 25 เมษายน 2539 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 3,000,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกเดือน หากผิดนัดยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบกับต้นเงินกลายเป็นเงินเบิกเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระดอกเบี้ยในกำหนด โดยมีจำเลยที่ 3ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมนอกจากนี้จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 10 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 3,000,000 บาท และตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระจำเลยที่ 3 ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นได้จนครบภายหลังทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา แต่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าหักทอนบัญชีน้อยกว่าที่จำเลยสั่งเบิกถอนเงินออกจากบัญชี ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยทั้งสามให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยทั้งสามได้รับหนังสือแล้วแต่ไม่ชำระ

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้หรือไม่เพียงไร เห็นว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาสิ้นสุดของสัญญาไว้ และจำเลยที่ 1 ได้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมาโดยตลอด ปรากฏตามใบแสดงรายการ บัญชีเดินสะพัด ว่า จำเลยที่ 1 ใช้เช็คเบิกถอนเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2539 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่ามีการเดินสะพัดทางบัญชีอีก คงมีแต่รายการที่โจทก์นำเงินดอกเบี้ยที่ค้างชำระของแต่ละเดือนทบเข้ากับต้นเงินกลายเป็นเงินเบิกเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระในเดือนถัดไปกรณีเช่นนี้สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้คืนจะสิ้นสุดลงต่อเมื่อคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญาต่อกันหรือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้หักทอนบัญชีและให้ชำระหนี้ที่มีต่อกันแล้วและสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้คงเหลืออันเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 และ 859 ตราบใดที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดยังมิได้เลิกกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนกว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะเลิกกัน ซึ่งในคดีนี้ปรากฏว่าวันครบกำหนดให้ชำระหนี้ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาของโจทก์เอกสารหมาย จ.10 คือวันที่ 30 มิถุนายน 2541 จึงถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกและหักทอนบัญชีในวันดังกล่าว โจทก์ซึ่งมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ได้ถึงวันดังกล่าว ซึ่งเป็นวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นอันสิ้นสุดลง และเมื่อฟังว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ดังกล่าวซึ่งปรากฏตามเอกสารการคิดดอกเบี้ยท้ายเอกสารหมาย จ.13 ระบุว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 25 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 โดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยดังกล่าวมาก่อนหน้านี้ การปรับดอกเบี้ยไปคิดในอัตราร้อยละ 25 จึงเป็นการที่โจทก์อาศัยประกาศ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อตามเอกสารหมาย จ.15 ข้อ 6 อันเป็นการคิดดอกเบี้ยในสินเชื่อที่ผิดเงื่อนไข จึงเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยให้คิดสูงขึ้นหลังจากที่ได้บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับจำเลยที่ 1 แล้ว ดอกเบี้ยร้อยละ 25จึงเป็นเบี้ยปรับซึ่งเห็นว่าสูงไป สมควรกำหนดให้คิดในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี

ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในยอดหนี้4,687,810.86 บาท นั้น เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8ระบุวงเงินไว้จำนวน 3,000,000 บาท แม้จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมไปจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนทั้งการค้ำประกันนี้ยังคลุมถึงหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้แก่ดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการฟ้องร้องบังคับคดีทั้งสิ้นก็มีความหมายเพียงว่าผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ของผู้ค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688, 689 และ 690 ขึ้นต่อสู้ได้เท่านั้น ส่วนที่ระบุต่อไปว่า ผู้ค้ำประกันยินยอมรับผิดชอบและค้ำประกันแม้ว่าหนี้ประธานรวมกับหนี้อุปกรณ์แล้วจะเกินกว่าวงเงินค้ำประกันตามสัญญานี้ ก็หาได้หมายความถึงว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดในวงเงินต้นที่ค้ำประกันเกินกว่าจำนวน 3,000,000 บาท ไม่ เพียงแต่ถ้ารวมดอกเบี้ยแล้วก็ต้องรับผิดเกินกว่าจำนวนดังกล่าวได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ให้ชำระต้นเงินแก่โจทก์จำนวน 3,000,000 บาท จึงชอบแล้ว”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 4,353,819.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน3,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share