แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรม แต่จำเลยที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้อง เป็นกรณีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจฎีกาในปัญหานี้ได้
เมื่อจำเลยที่ 3 รับว่าโจทก์ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือแก่จำเลยที่ 3 แล้ว โจทก์จึงยกการโอนสิทธิเรียกร้องขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 ได้ โดยไม่จำต้องให้จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยที่ 3 หรือจำเลยที่ 3 ต้องให้ความยินยอมด้วยเป็นลายลักษณ์อักษรและจำเลยที่ 1 ย่อมหมดสิทธิที่จะรับเงินตามสัญญาจ้างทันที จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะมาระงับไม่ให้จำเลยที่ 3 จ่ายเงินให้โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 3 จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไป จึงไม่อาจบอกปัดความรับผิดโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้ระงับการจ่ายเงิน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 535,710.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 525,851.50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 525,851.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2546 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 525,851.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้เถียงกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างปรับปรุงพื้นหินขัดกับจำเลยที่ 3 และทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องค่าจ้าง 525,851.50 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยที่ 3 แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ 3 ว่าไม่ประสงค์ จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรม แต่จำเลยที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้อง เป็นกรณีที่จำเลยที่ 3 ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว แสดงว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาคดีนี้ และเมื่อศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาได้ เนื่องจากเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ต้องชำระค่าจ้างตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า หนังสือโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อ 3 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้โอนสิทธิเรียกร้อง มีหน้าที่แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบและยินยอมด้วยเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 มิได้ยินยอมด้วยเป็นลายลักษณ์อักษร จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นไม่สมบูรณ์ ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ และการโอนหนี้นั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอน คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อจำเลยที่ 3 รับว่าโจทก์ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือแก่จำเลยที่ 3 แล้ว โจทก์จึงยกการโอนสิทธิเรียกร้องขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 ได้ โดยไม่จำต้องให้จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยที่ 3 หรือจำเลยที่ 3 ต้องให้ความยินยอมด้วยเป็นลายลักษณ์อักษร และจำเลยที่ 1 ย่อมหมดสิทธิที่จะรับเงินตามสัญญาจ้างทันที จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะมาระงับไม่ให้จำเลยที่ 3 จ่ายเงินให้โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 3 จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไปจึงไม่อาจบอกปัดความรับผิดโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้ระงับการจ่ายเงิน อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจรับเงินตามที่โจทก์มีสิทธิที่จะรับได้ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชำระค่าจ้างแก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าจ้างโดยมีความประสงค์โอนหน้าที่รับจ้างให้แก่โจทก์ด้วย จึงหาใช่การโอนสิทธิเรียกร้องแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ซึ่งต้องทำเป็นสัญญาระหว่างจำเลยที่ 3 กับโจทก์ เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์