คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 781/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดในข้อหาลักทรัพย์และข้อหาร่วมกันจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม เป็นคดีอาญาแผ่นดินอันมิใช่เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง เมื่อมีความผิดอาญาแผ่นดินเกิดหรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ ย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าพนักงานตำรวจที่ต้องสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อเอาความผิดแก่ผู้กระทำผิดอาญาทั้งปวงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18ประกอบมาตรา 121 วรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษกระทำผิดหรือไม่ การสอบสวนของพนักงานสอบสวนรวมทั้งการที่พนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลย จึงเป็นการกระทำโดยชอบแล้ว
ความผิดทั้งสองฐานตามฟ้องเกิดจากโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยกับพวกนำโทรศัพท์มือถือที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้หมายเลขประจำเครื่องมาปรับเปลี่ยนช่องสัญญาณความถี่เป็นหมายเลขประจำเครื่องของผู้เสียหายซึ่งได้รับอนุญาตจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย แม้จำเลยกับพวกจะกระทำการดังกล่าวที่บริษัทของจำเลยแต่ผลของการกระทำก็เกิดขึ้นแก่โทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย ทำให้โทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายถูกรบกวน จึงเป็นความผิดต่อเนื่องที่กระทำต่อเนื่องกันระหว่างท้องที่ที่บริษัทจำเลยตั้งอยู่กับท้องที่ที่ผู้เสียหายนำโทรศัพท์มือถือไปใช้แล้วเกิดขัดข้องซึ่งอยู่ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพญาไทจึงมีอำนาจสอบสวน การสอบสวนได้กระทำโดยชอบแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โทรศัพท์มือถือที่ ช. ซื้อมาจากบริษัทจำเลยผ่านทาง ม. นั้น เป็นโทรศัพท์ที่คนของบริษัทจำเลยทำการลักลอบปรับเปลี่ยนช่องสัญญาณความถี่เป็นช่องสัญญาณโทรศัพท์หมายเลขของผู้เสียหาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรบกวนและขัดขวางการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. 2498 มาตรา 26 และเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่าร่วมกันจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม จำเลยก็ให้การรับสารภาพ จากพยานหลักฐานของโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดี แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ใช้เครื่องมือปรับเปลี่ยนช่องสัญญาณความถี่หรือถอดรหัสสัญญาณโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย ก็ฟังได้ว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นเป็นใจหรือสมรู้ร่วมคิดกับพวกอันมีลักษณะเป็นตัวการร่วมกันประกอบธุรกิจอันไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 22, 26 ริบของกลางทั้งหมดเพื่อให้ไว้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 26 จำคุก 2 ปี ในการสืบพยานจำเลยนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาล มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ริบของกลางทั้งหมดเพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข คำขออื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ระหว่างวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง โทรศัพท์มือถือของพันตำรวจโทพิศิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เช่าใช้หมายเลขประจำเครื่อง 3537590 จากการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้ถูกผู้อื่นลักลอบปรับเปลี่ยนช่องสัญญาณความถี่ประจำเครื่องผ่านโทรศัพท์มือถืออีกเครื่องหนึ่ง เมื่อผู้เสียหายตรวจสอบจากใบแจ้งค่าใช้บริการโทรศัพท์ประจำเดือนที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยส่งมาในช่วงเวลาเกิดเหตุ จึงพบว่ามีหมายเลขโทรศัพท์ปลายทางที่ผู้เสียหายไม่รู้จักที่ไม่เคยโทรไปหลายครั้ง ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนทราบว่านางสาวเนตรนภา ศิลปมณี เป็นผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออีกเครื่องหนึ่งโทรจากหมายเลขของผู้เสียหายไปยังหมายเลขปลายทางดังกล่าวโดยนายชูศักดิ์ จึงพานิชนายจ้างของนางสาวเนตรนภาเป็นผู้ซื้อโทรศัพท์มือถือมาจากบริษัทไจแอน เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด ของจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับกุมนายชูศักดิ์และนางทุเรียนยุ้นพันธ์ พนักงานอยู่ในบริษัทของจำเลยดำเนินคดีฐานลักทรัพย์และออกหมายจับนายมงคล ยุ้นพันธ์ กับจำเลยผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมประกอบกิจการดังกล่าว จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ต่อมาเมื่อพนักงานสอบสวนทำสำนวนสอบสวนเสร็จและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการแล้ว พนักงานอัยการได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยว่า ร่วมกันจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมอีกข้อหาหนึ่ง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าความผิดในข้อหาลักทรัพย์และข้อหาร่วมกันจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม คดีไม่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษตามกฎหมายและข้อหาฐานร่วมกันจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. 2498 พันตำรวจโทพิศิษฐ์มิใช่ผู้เสียหาย พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนการสอบสวนไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวเป็นคดีอาญาแผ่นดิน อันมิใช่เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อมีความผิดอาญาแผ่นดินเกิดหรืออ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าพนักงานตำรวจที่ต้องสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อเอาความผิดแก่ผู้กระทำผิดอาญาทั้งปวงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 121 วรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษผู้กระทำผิดหรือไม่ ดังนั้น การสอบสวนของพนักงานสอบสวนรวมทั้งการที่พนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยจึงเป็นการกระทำโดยชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพญาไทอยู่นอกเขตท้องที่ที่เกิดเหตุเป็นผู้ทำการสอบสวน จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ความผิดทั้งสองฐานตามฟ้องเกิดจากโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยกับพวกนำโทรศัพท์มือถือที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้หมายเลขประจำเครื่องมาปรับเปลี่ยนช่องสัญญาณความถี่เป็นหมายเลขประจำเครื่องของผู้เสียหายซึ่งได้รับอนุญาตจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยแม้จำเลยกับพวกจะกระทำการดังกล่าวที่บริษัทของจำเลย แต่ผลของการกระทำก็เกิดขึ้นแก่โทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย ทำให้โทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายถูกรบกวนจึงเป็นความผิดต่อเนื่องที่กระทำต่อเนื่องกันระหว่างที่ที่บริษัทจำเลยตั้งอยู่กับท้องที่ที่ผู้เสียหายโทรศัพท์มือถือไปใช้แล้วเกิดขัดข้อง ซึ่งอยู่ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพญาไทจึงมีอำนาจสอบสวนการสอบสวนได้กระทำโดยชอบแล้วโจทก์มีอำนาจฟ้อง

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการที่สองมีว่า ฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมไม่สมบูรณ์และเคลือบคลุมหรือไม่ ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานนี้ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันนำโทรศัพท์มือถืออันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้หมายเลขประจำเครื่องจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยมาปรับเปลี่ยนช่องสัญญาณความถี่เป็นหมายเลขประจำเครื่อง 3537590 ซึ่งเป็นหมายเลขประจำเครื่องของพันตำรวจโทพิศิษฐ์ เปาอินทร์ ที่ได้รับอนุญาตแล้ว การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการจงใจให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม ทำให้พันตำรวจโทพิศิษฐ์ไม่อาจใช้เครื่องโทรศัพท์ติดต่อสื่อสารได้ ดังนี้ เห็นว่า เป็นฟ้องที่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) และครบองค์ประกอบความผิดฐานจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 แก้ไขเพิ่มเติม ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2535 (ฉบับที่ 3) มาตรา 26 แล้ว ส่วนการปรับเปลี่ยนช่องสัญญาณความถี่ในโทรศัพท์มือถือกระทำอย่างไร ในลักษณะเช่นใดอันจะถือเป็นการรบกวนขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมทางใดนั้น เป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบกันต่อไปในชั้นพิจารณา ไม่จำต้องบรรยายมาโดยละเอียดในคำฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์และไม่เคลือบคลุม

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานร่วมกับพวกจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จากพฤติการณ์ที่จำเลยได้ร่วมเข้าหุ้นกับนายมงคล ยุ้นพันธ์และนายไทเกอร์ เฉิน เปิดร้านจำหน่ายและบริการรับซ่อมโทรศัพท์มือถือใช้ชื่อในทางการค้าว่าบริษัทไจแอน เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการค้ากระทรวงพาณิชย์และการสื่อสารแห่งประเทศไทยรวมทั้งการที่ยินยอมให้นายมงคลหุ้นส่วนคนหนึ่งเป็นผู้ติดต่อขายโทรศัพท์มือถือโดยอวดอ้างต่อลูกค้าว่าโทรศัพท์มือถือที่ซื้อจากสถานการค้าของจำเลยไม่ต้องเสียค่าใช้โทรศัพท์ซึ่งนับได้ว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัย เมื่อนำมาประกอบข้อเท็จจริงว่า โทรศัพท์มือถือที่นายชูศักดิ์ซื้อมาจากบริษัทจำเลยผ่านทางนายมงคลนั้น เป็นโทรศัพท์ที่คนของบริษัทจำเลยทำการลักลอบปรับเปลี่ยนช่องสัญญาณความถี่เป็นช่องสัญญาณโทรศัพท์หมายเลขของผู้เสียหาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรบกวนและขัดขวางการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 26 กับเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่าร่วมกันจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม จำเลยก็ได้ให้การรับสารภาพอีก เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าว แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันเห็นจำเลยเป็นผู้ใช้เครื่องมือปรับเปลี่ยนช่องสัญญาณความถี่หรือถอดรหัสสัญญาณโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายก็ตาม ก็มีน้ำหนักมั่นคง รับฟังได้ว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นเป็นใจหรือสมรู้ร่วมคิดกับพวกอันมีลักษณะเป็นตัวการร่วมกันประกอบธุรกิจอันมิชอบนั้น ข้อนำสืบของจำเลยที่อ้างว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในการปรับเปลี่ยนช่องสัญญาณความถี่ของโทรศัพท์มือถือ เป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ ของจำเลยเอง ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวข้างต้นได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองศาลวางโทษจำคุกจำเลย 2 ปีก่อนลดโทษโดยไม่รอการลงโทษมานั้นนับว่าเป็นดุลพินิจที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share