แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ภารจำยอมย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์เท่านั้น โดยอสังหาริมทรัพย์ที่ได้สิทธิภารจำยอมนั้นเรียกสามยทรัพย์ ส่วนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกอยู่ในภารจำยอมนั้นเรียกภารยทรัพย์ ผู้ที่จะฟ้องบังคับภารจำยอมได้จึงต้องเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เมื่อปรากฏว่าขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสามยทรัพย์ให้บุคคลอื่นไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยผู้เป็นเจ้าของภารยทรัพย์ แม้ตามสัญญาให้ทางผ่านที่ดินระบุว่าหากที่ดินของโจทก์ได้โอนไปยังบุคคลหนึ่งบุคคลใด จ.ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมยินยอมให้ใช้ทางนั้นเป็นทางผ่านสัญจรไปมาได้ก็ตาม และบุคคลภายนอกผู้รับโอนที่ดินจากโจทก์ไปจะมีสิทธิอย่างไรก็เป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกผู้รับโอนที่ดินจากโจทก์ไปจะไปใช้สิทธินั้นเองเมื่อยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่ามีการไม่ชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกนั้นโจทก์ที่ 1 ย่อมไม่มีอำนาจใช้สิทธิดังกล่าวนั้นแทนได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อปี 2521 โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 62 ได้ทำหนังสือสัญญาให้ทางผ่านที่ดินกับนายเจิม เพชรคล้าย เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 43ตกลงให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิผ่านที่ดินซึ่งมีสภาพเป็นถนนอยู่แล้วกว้างประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ 600 เมตร สูง 1 เมตรมีกำหนดระยะเวลานับแต่วันทำสัญญาถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2524โดยโจทก์ที่ 1 เสียค่าตอบแทน 50,000 บาท ต่อมานายเจิมถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทจึงรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเมื่อสัญญาให้ทางผ่านที่ดินดังกล่าวได้สิ้นสุดลง โจทก์ที่ 1ซึ่งมีที่ดินอยู่ด้านในหลายแปลง และโจทก์ที่ 2 ตลอดจนบุคคลอื่นที่มีบ้านอาศัยอยู่ในหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 5 ได้ใช้ถนนเส้นทางนี้เพื่อทำการค้าขายที่ดิน รับถมดินและผ่านเข้าออกสู่ถนนสุขาภิบาล 5ตามสัญญาดังกล่าวข้อ 4 ระบุว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 ใช้ถนนผ่านทางขนดินครบกำหนดตามสัญญาแล้ว แม้ที่ดินของโจทก์ที่ 1 โอนให้แก่ผู้อื่นนายเจิมยอมให้ใช้ทางนี้เป็นทางเดินผ่านสัญจรไปมาตลอดไปโดยไม่เรียกร้องค่าผ่านทาง โจทก์ทั้งสองตลอดจนบุคคลอื่นได้ใช้ถนนเส้นทางดังกล่าวตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว ถนนเส้นทางนี้จึงอยู่ในภารจำยอมแก่โจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2537 จำเลยทั้งสี่ร่วมกันขุดทำลายสภาพเส้นทางภารจำยอมทั้งหมด ทำให้โจทก์ทั้งสองตลอดจนบุคคลอื่นที่อาศัยอยู่ด้านในไม่สามารถเดินทางเข้าออกสู่ถนนสุขาภิบาล 5 ได้ตามปกติ ซึ่งทำให้เสื่อมความสะดวกในการใช้ประโยชน์แห่งภารจำยอมตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ถมถนนภารจำยอมซึ่งมีความกว้างประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ 600 เมตรสูง 1 เมตร บนที่ดินโฉนดเลขที่ 43 ให้มีสภาพเหมือนเดิมห้ามจำเลยทั้งสี่ขัดขวางการใช้ถนนภารจำยอมหรือทำให้ลดหรือเสื่อมความสะดวกในการใช้ประโยชน์แห่งภารจำยอมของโจทก์ทั้งสองและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจดทะเบียนถนนเส้นทางตามฟ้องเป็นทางภารจำยอมแก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสี่
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า นายเจิม เพชรคล้ายทำหนังสือสัญญาให้ทางผ่านที่ดินแก่โจทก์ที่ 1 ไม่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 สัญญาหมดอายุแล้ว ปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวที่ระบุไว้ในสัญญาไม่มีสภาพเป็นทาง ข้อตกลงตามสัญญาข้อ 4ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 43 เพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวผู้ให้สัญญา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3เพราะจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 43 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองเฉพาะเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีปัญหาประการแรกว่าโจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ให้จดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์ที่ 1 ได้หรือไม่ เห็นว่าภารจำยอมนั้นย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์เท่านั้น โดยอสังหาริมทรัพย์ที่ได้สิทธิภารจำยอมนั้นเรียกสามยทรัพย์ ส่วนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกอยู่ในภารจำยอมนั้นเรียกภารยทรัพย์ ผู้ที่จะฟ้องบังคับภารจำยอมได้จึงต้องเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองนั้น โจทก์ทั้งสองอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 62 และโจทก์ที่ 2ได้ใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 43เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ทางดังกล่าวจึงตกเป็นทางภารจำยอมแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ถมถนนซึ่งเป็นทางภารจำยอมห้ามขัดขวางการใช้ทางภารจำยอมของโจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจดทะเบียนทางภารจำยอมแก่โจทก์ทั้งสอง ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเห็นได้ว่า โจทก์ที่ 1 มุ่งประสงค์ให้จำเลยทั้งสี่ ไม่ให้ขัดขวางการใช้ทางภารจำยอมของโจทก์ที่ 1และให้จดทะเบียนทางภารจำยอมในที่ดินของจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 43เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 62 ของโจทก์ที่ 1 นั่นเองเมื่อปรากฏว่าขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 62 ให้นางสาวปรียาศิริ ทองวิบูลย์ ไปแล้วโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ตามสัญญาให้ทางผ่านที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 4 ระบุว่าหากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ได้โอนไปยังบุคคลหนึ่งบุคคลใด นายเจิมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมยินยอมให้ใช้ทางนั้นเป็นทางผ่านสัญจรไปมาได้ ลักษณะของสัญญาดังกล่าว จึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกจึงเป็นบุคคลสิทธิที่สามารถบังคับกันได้ระหว่างนายเจิมและโจทก์ที่ 1 เมื่อนายเจิมถึงแก่ความตายลงจำเลยที่ 1 ทายาทผู้รับโอนที่ดินของนายเจิม จึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ ดังนั้น เพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก โจทก์ที่ 1ผู้ทำสัญญาจึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า บุคคลภายนอกผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 62 จากโจทก์ที่ 1 ไปจะมีสิทธิอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกผู้รับโอนที่ดินจากโจทก์ที่ 1 ไปจะไปใช้สิทธินั้นเองเมื่อยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่ามีการไม่ชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมไม่มีอำนาจใช้สิทธิดังกล่าวนั้นแทนได้
พิพากษายืน