แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 1329 ใช้สำหรับผู้โอนได้ทรัพย์มาโดยโมฆียกรรมแล้วโอนต่อไปหญิงมีสามีโอนทรัพย์โดยสามีไม่อนุญาต ไม่ใช่กรณีตาม มาตรา 1329
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภรรยากันมาประมาณ25 ปีเศษแล้ว มีที่ดินเป็นสินสมรสโฉนดเลขที่ 3781 ตำบลคลองกุ่มอำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร จำเลยที่ 1, 2, 3 ได้สมคบกันฉ้อโกงโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือมอบฉันทะให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินแปลงนี้ไปขายให้จำเลยที่ 3 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย ขอให้เพิกถอนทำลายนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสาม และให้ถอนชื่อจำเลยที่ 3 ออกจากโฉนดรายนี้
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ได้ทำใบมอบฉันทะไว้แก่นายไผ่พี่ชายฉบับหนึ่ง แต่มิได้มอบให้จำเลยที่ 2 ขายที่ดินรายนี้แก่จำเลยที่ 3
จำเลยที่ 2, 3 ให้การว่า ที่ดินรายนี้เป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิขายได้ ทั้งจำเลยที่ 1 ได้มอบฉันทะให้จำเลยที่ 2 ขายที่ดินแปลงนี้โดยสุจริตโจทก์ได้ทราบถึงการขาย และให้ความยินยอม ไม่คัดค้านอย่างใด เมื่อโจทก์ไม่ได้บอกล้างนิติกรรมการซื้อขายนั้น จะขอให้ศาลสั่งเพิกถอนไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิจารณาได้ความว่า โจทก์กับนางลีจำเลยที่ 1 ได้เป็นสามีภรรยากันมา 25 ปีแล้ว ที่ดินแปลงพิพาทเดิมเป็นของบิดามารดานางลีจำเลยที่ 1 ต่อมาบิดามารดาได้ยกที่ดินโฉนดนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ครั้นวันที่ 21 มกราคม 2488 จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่นายกูระบักซิงห์และนายอัตตาซิงห์ ราคา 13,409 บาท 50 สตางค์ แต่เนื่องด้วยผู้ซื้อเป็นคนต่างด้าว จะทำการโอนทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้ จึงให้นายสินธ์ทนายความทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเองกับหนังสือมอบฉันทะที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ขายที่ดินแปลงนี้ฉบับหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความโดยสมบูรณ์ ให้ไว้แก่ผู้ซื้อรวมทั้งโฉนดที่ดินด้วยเพื่อสะดวกแก่การที่จะโอนขายผู้อื่นต่อไป ผู้ซื้อไว้ก็ให้นายไผ่สามีนางผ่องจำเลยที่ 3 และเป็นพี่ชายจำเลยที่ 1 เช่าทำนาต่อมาได้ 4-5 ปี ผู้ซื้อได้ตกลงขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่นายไผ่สามีจำเลยที่ 3 ไปราคา 20,000 บาท โดยการมอบโฉนดที่ดินหนังสือซื้อขายและหนังสือมอบฉันทะตามสภาพเดิมให้แก่นายไผ่ไปทั้งหมดต่อมาราว 15 วัน นายไผ่วายชนม์ นายสันติจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรเขยนายไผ่กับจำเลยที่ 3 ก็พากันไปเจรจากับแขกผู้ซื้อไว้เดิมแล้วไปพบกับนายสินธ์ทนายความพร้อมกับนำหลักฐานที่ได้ไว้ไปให้นายสินธ์ช่วยกรอกข้อความในหนังสือมอบฉันทะของจำเลยที่ 1 เพื่อให้เป็นลายมือเดียวกัน เพราะหนังสือมอบฉันทะนั้น นายสินธ์เป็นผู้ทำไว้เมื่อครั้งจำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่นายกูระบักซิงห์ และนายอัตตาซิงห์ นายสินธ์จึงได้กรอกข้อความเพิ่มเติมลงไปในช่องที่เว้นว่างไว้แต่เดิม จนอ่านได้ความว่า จำเลยที่ 1 มอบให้นายสันติจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจจัดการขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่นางผ่องจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 1 จนเสร็จการ เมื่อได้ทำหนังสือมอบฉันทะเช่นนี้แล้ว จำเลยที่ 2 ก็ได้ไปทำการโอนที่ดินโฉนดนี้ให้แก่จำเลยที่ 3 ต่อเจ้าหน้าที่ ณ หอทะเบียนที่ดินเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2494 เสร็จสิ้นไป
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2494 โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งตามสำนวนคดีดำที่ 982/2494 ขอหย่าและแบ่งทรัพย์สิน ศาลได้พิพากษาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2494 ให้คู่ความหย่าขาดจากสามีภรรยากันและให้แบ่งที่ดินโฉนดที่ 3781 แปลงพิพาทนี้ อันเป็นสินสมรสให้โจทก์ได้ 2 ส่วน จำเลยที่ 1 ได้ 1 ส่วน คดีถึงที่สุด
ข้อที่โต้เถียงกันว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลชั้นต้นฟังว่าเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1
การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแปลงนี้ ต่างฝ่ายต่างนำสืบโต้แย้งกันฝ่ายโจทก์ว่าไม่รู้ แต่ฝ่ายจำเลยว่าโจทก์รู้เห็นด้วย ศาลชั้นต้นเชื่อว่าโจทก์น่าจะไม่ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแปลงนี้ไปและวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อปรากฏว่าที่ดินแปลงนี้ได้โอนทะเบียนถูกต้องตามแบบแห่งนิติกรรมมาเป็นของจำเลยที่ 3 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้การโอนของจำเลยที่ 1 จะเป็นโมฆียะ เพราะโจทก์มิได้อนุญาตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 ก็ดี แต่ตามมาตรา 1329 บัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลผู้ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนและสุจริตนั้นท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ว่าผู้โอนทรัพย์สินจะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ และนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างภายหลัง” ฉะนั้น ฐานะของจำเลยที่ 3 ย่อมไม่ถูกกระทบกระเทือน โจทก์จะขอให้เพิกถอนทำลายนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 3 หาได้ไม่พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ถ้าเรื่องเป็นไปตามข้อเท็จจริงดังที่ศาลชั้นต้นฟังมาจำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้รับผลคุ้มครองตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1329 เช่นที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นอ้างเพราะการโอนโดยถูกต้องก็คือจำเลยที่ 3รับโอนโดยตรงมาจากจำเลยที่ 1 ทีเดียว จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของมาแต่เดิม มิใช่ผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมาโดยบกพร่องเป็นโมฆียะอย่างไร จำเลยที่ 3 ผู้รับโอนจึงมิใช่ผู้รับโอนจากผู้ได้ทรัพย์มาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ แต่จำเลยที่ 3 ทำการซื้อจากผู้บกพร่องในความสามารถ เพราะเป็นหญิงมีสามี ถ้าสามีไม่ได้อนุญาตให้ทำนิติกรรมผูกพันสินบริคณห์เช่นนั้น นิติกรรมการซื้อขายก็ย่อมเป็นโมฆียะชอบที่โจทก์ผู้เป็นสามีผู้โอนจะบอกล้างให้เพิกถอนการโอนนั้นได้ ข้อที่โจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขายหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่าโจทก์น่าจะไม่ทราบในการโอน ทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่พอฟังว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต พิพากษากลับให้ทำลายการขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 นั้นเสีย ถอนชื่อออกจากโฉนดที่ดินตามฟ้อง
จำเลยที่ 2, 3 ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาปรึกษาคดีนี้แล้ว ข้อเท็จจริงคงฟังได้ดังที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นกล่าวว่า ที่ดินแปลงพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขายให้นายกูระบักซิงห์และนายอัตตาซิงห์โดยทำหนังสือกันเองจนในที่สุดจำเลยที่ 3 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ไปโดยมีการแก้ทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่ากรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1329 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังที่ศาลชั้นต้นอ้าง โดยเหตุผลซึ่งศาลอุทธรณ์กล่าวไว้โดยถูกต้องแล้วในชั้นนี้คดีคงมีปัญหาโต้เถียงกันในข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า โจทก์ได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขายหรือไม่ เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ของเรื่องที่เป็นมา น่าเชื่อคำพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยที่ 3 ยิ่งกว่าคำพยานโจทก์กล่าวคือ โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีที่ดินแปลงนี้แปลงเดียว โจทก์เองก็รับว่าเคยทำนาแปลงนี้ไฉนโจทก์จะไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ขายให้แขกไป เพราะแขกผู้ซื้อมอบที่นาให้นายไผ่เช่าทำอยู่หลายปี ระหว่างนั้นโจทก์มิได้ทำนาแปลงนี้เลย ครั้นจำเลยที่ 3 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาทางทะเบียนและบัดนี้ที่ดินมีราคาสูงกว่าแต่ก่อน โจทก์จึงดำเนินเป็นคดีนี้ขึ้นศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแปลงนี้แล้ว ฟ้องของโจทก์ย่อมตกไป
จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้ยกฟ้องโจทก์ค่าธรรมเนียม 3 ศาล และค่าทนายความเป็นเงิน 500 บาท ให้โจทก์ใช้แทนจำเลยที่ 2, 3 ด้วย