แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแต่จำเลยที่ 1 กำลังรับโทษตามคำพิพากษาดังกล่าวอยู่ เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอ้างว่า มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ความใหม่แทน อันเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ดังนี้จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษเสียใหม่ให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว จึงไม่อาจแก้ไขโทษตามคำพิพากษาได้นั้นเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะอำนาจในการมีคำสั่งตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ในกรณีเช่นนี้เป็นอำนาจของศาลชั้นต้น
เมื่อจำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นชอบที่จะส่งสำนวนดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ เพื่อพิจารณาตามลำดับชั้นศาล แต่ศาลชั้นต้นกลับส่งสำนวนมายังศาลฎีกาอันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 198 ทวิ แต่เมื่อคดีได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจสั่งยกคำสั่งของศาลชั้นต้นได้ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งใหม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2538 ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66 วรรคสอง ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2549 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 มาตรา 19 และมาตรา 26 ยกเลิกความในมาตรา 15 มาตรา 66 และมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ความใหม่แทนอันเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ขอให้เปลี่ยนแปลงโทษแก่จำเลยที่ 1 ด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2549 ว่า คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว จึงไม่อาจแก้ไขโทษตามคำพิพากษาได้
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้อ้างให้ชัดแจ้งว่าคำสั่งของศาลไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายใด และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งไม่รับอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้คดีนี้จะถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 กำลังรับโทษตามคำพิพากษาดังกล่าวอยู่ เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอ้างว่า ภายหลังกระทำความผิดได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ออกบังคับใช้ ซึ่งมาตรา 8 มาตรา 19 และมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 15 มาตรา 66 และมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ความใหม่แทนอันเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษเสียใหม่ให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 (1) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว จึงไม่อาจแก้ไขโทษตามคำพิพากษาได้นั้น เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะอำนาจในการมีคำสั่งตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ในกรณีเช่นนี้เป็นอำนาจของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นก็สั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ครั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นชอบที่จะส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพื่อพิจารณาตามลำดับชั้นศาล แต่ศาลชั้นต้นกลับส่งสำนวนมายังศาลฎีกาอันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 198 ทวิ อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำสั่งของศาลชั้นต้นได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งใหม่
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 28 มีนาคม 2549 และให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของจำเลยที่ 1 แล้วมีคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1)