คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7776/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ขณะทำสัญญาขายที่ดินจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นผู้เยาว์และยังไม่บรรลุนิติภาวะ การทำนิติกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 แม้โจทก์จะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ทำสัญญาโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาโดยตลอด ก็เป็นเพียงการเข้ายึดถือที่ดินแทนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เท่านั้น ทั้งการที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไปจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินเมื่อบรรลุนิติภาวะและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 มิได้โต้แย้งคัดค้าน ก็หาใช่เป็นการแจ้งเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดิน หรือถือว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 สละสิทธิครอบครองในที่ดินแต่ประการใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 798 ตำบลอุ่มเม่า อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยการซื้อมาจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในราคา 45,000 บาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้รับเงินดังกล่าวไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ได้รับมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และได้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งแต่วันทำหนังสือสัญญาซื้อขายเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้โดยความสงบ เปิดเผยโดยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้ง แต่ในวันทำสัญญาซื้อขายมิได้จดทะเบียนโอน เนื่องจากขณะที่มีการซื้อขายกันจำเลยที่ 6 อายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ต่อมาจำเลยที่ 7 ได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 10299 ตำบลอุ่มเม่า อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ตามความในมาตรา 58 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ในเนื้อที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 798 เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ซึ่งไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริง การออกโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 7 ดังกล่าวจึงไม่ชอบ โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ติดต่อจำเลยคนอื่นนำโฉนดที่ดินมาเปลี่ยนเป็นชื่อโจทก์ แต่จำเลยทุกคนเพิกเฉยขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทะเบียนเลขที่ 798 เล่ม 8 ข. หน้า 48 ตำบลอุ่มเม่า อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวนเนื้อที่ 12 ไร่ 10 ตารางวา ปัจจุบันคือโฉนดที่ดินเลขที่ 10299 เล่ม 103 หน้า 99 เลขที่ที่ดิน 103 หน้าสำรวจ 1481 ตำบลอุ่มมา อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวนเนื้อที่ 12 ไร่ 10 ตารางวา ห้ามมิให้จำเลยทั้งเจ็ดและบริวารเข้าเกี่ยวข้องโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ และขอให้เพิกถอนชื่อ – สกุล จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 10299 ตำบลอุ่มเม่า อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด แล้วใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวแทน
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 10299 ตำบลอุ่มเม่า อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเดิมเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 798 ตำบลเดียวกัน กับโฉนดที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ 10 ตารางวา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้ทำสัญญาจริง แต่เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทหาใช่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดไม่ โจทก์ครอบครองที่ดินแทนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เท่านั้น โจทก์ไม่อาจยกเอาระยะเวลาขึ้นต่อสู้กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้ โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท สัญญาจะซื้อจะขายไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ยังเป็นผู้เยาว์ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน จึงจะทำสัญญาได้ ถึงแม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 จะทำสัญญาในฉบับเดียวกันก็ตาม ดังนั้น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงเป็นโมฆะในส่วนของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 แม้ต่อมาจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ไม่อาจให้สัตยาบันได้ ตามสัญญาโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ตกลงจะชำระเงินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเมื่อจำเลยที่ 6 บรรลุนิติภาวะแล้ว จำเลยที่ 6 บรรลุนิติภาวะเมื่อปี 2536 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทวงถามให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญา แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาฝ่ายจำเลยจึงบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำที่โจทก์ได้วางไว้กับจำเลย ฝ่ายจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาแต่อย่างใด ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความในส่วนของจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์พร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 10299 ตำบลอุ่มเม่า อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ห้ามโจทก์และบริวารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดินอีกต่อไป และให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เดิมที่ดินพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เท่านั้น ซึ่งโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2525 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและเพิ่งจะมีการออกเอกสารเป็นโฉนดที่ดินเมื่อปี 2540 โดยไม่มีการไต่สวนถึงสิทธิการครอบครองก่อน การออกโฉนดดังกล่าวจึงไม่ชอบ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงหามีกรรมสิทธิ์ไม่ โจทก์ได้ชำระราคาที่ดินให้จำเลยทั้งเจ็ด (ที่ถูกคือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6) ครบถ้วนแล้วสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 สมบูรณ์และเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 7 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 798 ตำบลอุ่มเม่า อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ห้ามจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 และบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ต่อไป คำขออื่นให้ยกและยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทสองในหกส่วน จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทสี่ในหกส่วน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 798 ตำบลอุ่มเม่า อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ 10 ตารางวา มีชื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองวันที่ 19 มีนาคม 2525 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ราคา 45,000 บาท โจทก์ชำระเงินในวันทำสัญญา 40,000 บาท อีก 5,000 บาท ชำระในวันจดทะเบียนโอนเมื่อจำเลยที่ 6 อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ อีก 3 สัปดาห์ต่อมาโจทก์ชำระเงินค่าที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบันวันที่ 20 มกราคม 2540 เจ้าพนักงานที่ดินออกหลักฐานที่ดินพิพาทใหม่โดยเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 10299 ตำบลอุ่มเม่า อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทแล้วหรือไม่ เห็นว่า ขณะทำสัญญา จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ยังเป็นผู้เยาว์อยู่และยังไม่บรรลุนิติภาวะซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการทำนิติกรรมหรือก่อข้อผูกพันใด ๆ อันกระทบต่อสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ ซึ่งผู้เยาว์เองและผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาตเสียก่อน ซึ่งหมายความรวมถึงนิติกรรมจะขายที่ดินที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ได้กระทำขณะยังเป็นผู้เยาว์อยู่ด้วย ดังนั้นการทำนิติกรรมตามสัญญาจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ที่โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งแปลงตั้งแต่นั้นมาแม้จะเป็นการกระทำโดยสงบเปิดเผยอย่างเป็นเจ้าของมาโดยตลอดก็เป็นเพียงการเข้ายึดถือที่ดินพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 แทนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เท่านั้น ส่วนการที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ก็เป็นการเรียกร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาซึ่งในส่วนของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นโมฆะดังได้วินิจฉัยข้างต้น และการที่โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ตลอดมา กับแจ้งให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้วไปจดทะเบียนโอนสิทธิที่ดินพิพาทให้โจทก์ก็ไม่ใช่การแจ้งเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 แม้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 จะมิได้โต้แย้งคัคค้านก็ไม่อาจถือว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 สละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาเต็มตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทสองในหกส่วน ทุนทรัพย์ชั้นฎีกาเหลือเพียง 30,000 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินมาจำนวน 375 บาท ให้แก่โจทก์
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่โจทก์เสียเกินมาจำนวน 375 บาท ให้แก่โจทก์

Share