คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7773/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าของสถานประกอบการโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีจักรเย็บผ้าไฟฟ้า 21 ตัว และมีคนงานหญิง 15 คน จำเลยจึงเป็นนายจ้างและเป็นเจ้าของโรงงานจำพวกที่ 1 ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวง (พ.ศ.2535)ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ลำดับที่ 28 (1) ในอันที่จะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงมหาดไทย
โรงงานของจำเลยเป็นตึกแถว 3 ชั้นต่อเติมเป็น 4 ชั้น มีประตูเหล็กยืดที่ชั้นล่างใช้เป็นทางเข้าออกทางเดียว ส่วนทางขึ้นดาดฟ้านั้นโดยสภาพไม่ใช่ทางเข้าออก นอกจากนี้ยังปรากฏว่าทางขึ้นดาดฟ้าครอบด้วยตะแกรงเหล็กมีประตูเปิดปิด แต่ล็อกกุญแจไว้ ส่วนหน้าต่างของตึกแถวแต่ละชั้นติดเหล็กดัดทุกบานเหล็กดัดดังกล่าวปิดตายไว้ทุกบาน ไม่สามารถเปิดออกได้ เกี่ยวกับการจัดเก็บรักษาวัตถุหรือสิ่งของภายในอาคารที่เกิดเหตุนั้น โรงงานของจำเลยไม่มีห้องจัดเก็บพัสดุที่ใช้ แต่ได้วางไว้ทั่วไปตามพื้นที่ปฏิบัติงาน รวมทั้งตามบันไดขึ้นลงด้วย โดยจำเลยไม่ได้จัดเก็บรักษาเสื้อผ้าซึ่งเป็นวัตถุที่เป็นสื่อให้เกิดอัคคีภัยได้ง่ายให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและในที่ปลอดภัย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ข้อ 5 (3) (10) ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานสำหรับลูกจ้าง ฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2534 ข้อ 4 ระบุให้นายจ้างจัดให้มีแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการเกี่ยวกับการตรวจตรา การอบรม การรณรงค์ป้องกันอัคคีภัย การดับเพลิง การอพยพหนีไฟ การบรรเทาทุกข์และการปฏิรูปฟื้นฟูเมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้นแล้ว และให้นายจ้างเก็บแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยไว้ ณ สถานที่ทำงานพร้อมที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ และข้อ 33 ระบุให้นายจ้างจัดให้มีระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ในสถานประกอบการโดยให้ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้คือสถานประกอบการตั้งแต่สองชั้นขึ้นไปต้องติดตั้งระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ชนิดเปล่งเสียงให้ลูกจ้างที่ทำงานภายในอาคารได้ยินอย่างทั่วถึง โดยมีระดับความดังของเสียงไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยเดซิเบล(เอ) วัดห่างจากจุดกำเนิดของเสียงหนึ่งเมตรโดยรอบ แต่จำเลยไม่ได้จัดทำแผนป้องกันหรือระงับอัคคีภัย ไม่มีระบบสัญญาณเตือนภัย นอกจากนี้เมื่อสำนักงานจัดหลักสูตรอบรมอาสาสมัครป้องกันพลเรือนเกี่ยวกับการป้องกันหรือระงับอัคคีภัยโดยมีการประกาศเชิญชวนทางหนังสือพิมพ์และเครื่องขยายเสียง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้สมัครเข้ารับการอบรมแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยซักซ้อมกับคนงานว่าหากมีเหตุเพลิงไหม้บริเวณชั้นบนให้หนีออกทางประตูชั้นล่าง หากเพลิงไหม้บริเวณชั้นล่างให้หนีออกทางดาดฟ้าการซักซ้อมวิธีหนีไฟของจำเลยดังกล่าวไม่อาจจัดว่าเป็นแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยตามความมุ่งหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวเช่นกัน

Share