คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7767/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยต่างเป็นเอกชนที่ตกลงทำสัญญาจ้างกัน โดยจำเลยตกลงจ้างโจทก์ทำงานเป็นครู และให้ค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดเวลาที่ทำงานให้จำเลย สัญญาจ้างเป็นครูดังกล่าวจึงเป็นการจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 แต่มิใช่สัญญาทางการปกครองแม้กฎกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (ฉบับที่ 1)ฯ ข้อ (1) จะกำหนดมิให้ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ บังคับแก่นายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครู แต่เมื่อสัญญาการเป็นครูเป็นสัญญาจ้างแรงงานโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยใช้เงินอันเนื่องมาจากสัญญาจ้างแรงงานได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 8 เพียงแต่ศาลแรงงานกลางจะนำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯมาบังคับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้เท่านั้น พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนฯ มีวัตถุประสงค์ควบคุมโรงเรียนเอกชนให้เป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพ มิใช่กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่นายจ้างและลูกจ้างหรือกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้าง หรือแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างลูกจ้างอันเป็นวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์แม้จะมีการกำหนดให้การคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโดยมีคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานเป็นผู้ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายที่ขจัดข้อพิพาทระหว่างครูใหญ่หรือครูกับผู้รับใบอนุญาตหรือผู้จัดการพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนฯ จึงไม่ใช่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ที่โจทก์จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าวก่อนฟ้องคดี โจทก์มีอำนาจฟ้อง
ในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นเท่านั้นไม่จำต้องอ้างบทกฎหมายที่กำหนดให้จำเลยต้องจ่ายเงินตามฟ้องมาด้วย ศาลก็มีอำนาจนำบทกฎหมายที่นอกเหนือจากที่โจทก์อ้างมาปรับกับข้อเท็จจริงตามฟ้องได้เพราะเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องยกบทกฎหมายที่ถูกต้องมาปรับแก่ข้อเท็จจริงนั้น ที่ศาลแรงงานกลางนำระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชนฯ มาปรับแก่คดีนี้ จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 38,160 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 7,632 บาท ค่าจ้าง 7,768 บาท และค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 50,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 16พฤษภาคม 2539 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,360 บาท เมื่อวันที่ 25พฤษภาคม 2542 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ให้นักศึกษาลอกคำตอบข้อสอบ ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งและจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ต้องจ่ายตามฟ้องให้โจทก์แล้ว สัญญาจ้างและพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 มาตรา 63, 78 และ 97ได้กำหนดไว้ในทำนองเดียวกันว่าถ้ามีข้อขัดแย้งระหว่างครูกับผู้รับใบอนุญาตหรือผู้จัดการให้เสนอต่อคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดหากคู่กรณีไม่พอใจก็มีสิทธิอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่คู่กรณีเลือกทางระงับข้อพิพาทโดยอาศัยองค์กรดังกล่าวได้แต่ไม่ใช่บทบัญญัติที่ตัดอำนาจมิให้คู่กรณีนำคดีมาสู่ศาลแรงงานได้โดยตรง หรือให้อำนาจคู่กรณีทำข้อตกลงยกเว้นอำนาจการพิจารณาคดีของศาลแรงงานได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยมิได้เสนอความผิดและสมควรลงโทษเลิกจ้างโจทก์ให้คณะกรรมการประนีประนอมและคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานพิจารณาก่อนตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการทั้งพฤติการณ์ที่โจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ไม่ใช้ความระมัดระวังปล่อยให้นักศึกษาลอกคำตอบข้อสอบกันยังไม่ถึงขนาดเป็นความผิดร้ายแรงที่จำเลยมีสิทธิไม่จ่ายค่าชดเชยแต่เป็นพฤติการณ์ที่มีเหตุให้เลิกจ้างได้จึงไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 38,160 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 7,632 บาทแก่โจทก์ คำขอนอกนั้นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่าสัญญาการเป็นครูเอกสารหมาย ล.4 ทำขึ้นตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนพ.ศ. 2525 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชนเป็นสัญญาทางการปกครอง ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน จึงไม่อาจจะนำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาใช้บังคับ โจทก์ฟ้องโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 กำหนดไว้ จึงไม่มีอำนาจฟ้องและศาลแรงงานกลางพิพากษาเกินคำขอนั้น เห็นว่า โจทก์และจำเลยต่างเป็นเอกชนที่ตกลงทำสัญญาจ้างกันโดยจำเลยตกลงจ้างโจทก์ทำงานเป็นครู และให้ค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดเวลาที่ทำงานให้จำเลย สัญญาการเป็นครูเอกสารหมาย ล.4 จึงเป็นการจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 กรณีนี้หาใช่เป็นสัญญาทางการปกครองดังจำเลยอ้างไม่ และแม้กฎกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ (1) จะกำหนดมิให้ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บังคับแก่นายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครู แต่เมื่อสัญญาการเป็นครูเป็นสัญญาจ้างแรงงานโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยใช้เงินตามฟ้องได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8เพียงแต่ศาลแรงงานกลางจะนำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาบังคับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้เท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งศาลแรงงานกลางจะให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ โจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินตามฟ้องหรือไม่เพียงใดย่อมเป็นไปตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนพ.ศ. 2525 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่น นอกจากนี้พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 มีวัตถุประสงค์ควบคุมโรงเรียนเอกชนให้เป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพเท่านั้น มิใช่กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่นายจ้างลูกจ้าง หรือกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้าง หรือแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างลูกจ้างอันเป็นวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์แม้จะมีการกำหนดให้การคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโดยมีคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานเป็นผู้ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายที่จะขจัดข้อพิพาทระหว่างครูใหญ่หรือครูกับผู้รับใบอนุญาตหรือผู้จัดการดังนั้น พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 จึงมิใช่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 กำหนดไว้ก่อน และแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ตาม แต่การฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นเท่านั้น หาจำต้องอ้างบทกฎหมายที่กำหนดให้จำเลยต้องจ่ายเงินตามฟ้องมาด้วยไม่ หรือถ้าอ้างบทกฎหมายมาด้วย ศาลก็มีอำนาจนำบทกฎหมายนอกเหนือจากที่โจทก์อ้างมาปรับกับข้อเท็จจริงตามฟ้องได้ เพราะเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องยกบทกฎหมายที่ถูกต้องมาปรับแก่ข้อเท็จจริงนั้น ที่ศาลแรงงานกลางนำระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525มาปรับแก่คดีนี้ จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share